คำว่า เย็ต มีความหมายเก่าก่อนแต่ชั้นบรรพกาลว่า การเสพสังวาส เป็นคำร่วมรากกับตระกูลภาษาออสโตรนีเซียน เช่น ฟิลิปปินส์ และฟอร์โมซา ที่เป็นชนพื้นเมืองบนเกาะไต้หวัน เรียกคำเสพสังวาส (sexual intercourse) ด้วยถ้อยคำอาทิ พวก Cebuano, Tagalog และ Iloko บนเกาะฟิลิปปินส์เรียก ʔiyut/อิยุต/, ʔiyot /อิยต/ และ yut /ยุต/ ตามลำดับ และพวก Puyuma และ Bunun บนเกาะไต้หวันเรียก maħa-ħiyut /มะฮะ-ฮิยุต/ และ paquit /ปาคุอิต/ ตามลำดับ และสืบสร้างเป็นคำโบราณว่า *qiyut /คิยุต/ (อ้างอิงจากบทความเรื่อง“The Philippine languages and the determination of PAN syllable structure” โดย John U. Wolff ค.ศ. 2005 หน้า 76) ในภาษามาเลย์-อินโดนีเซียน ก็มีคำว่า ayut /อะยุต/ หรือ /อายุต/ แปลชัดๆ ว่า ร่วมรัก ร่วมเพศ หรือภาษาชาวบ้านว่า เอากัน ซึ่งเป็นคำเก่าพื้นถิ่น ร่วมรากคำพยางค์เดียว (monosyllabic roots) อันเก่าแก่ระดับต้นโคตร *yut/ñut ของทั้งไท-กะไดและออสโตรนีเซียน ซึ่งมีความหมายสามัญดั้งเดิมว่า 'ยืดเหยียด หยุ่นหดตัว ชักขึ้นชักลง ชักเข้าชักออกอย่างเป็นจังหวะ และการสืบสายยืดยาว' ซึ่งเป็นต้นแบบแรกกำเนิดของคำอื่นๆ ที่นอกไปจากการเสพสังวาส ทั้งคำสองสามพยางค์มากมายในพวกออสโตรนีเซียน และคำพยางค์เดียวต่างๆ ของไท-กะได (ผ่านไท-ไต) เช่น คำว่า เหยียด (stretch out) Proto-Tai *ʔjiətD /เอยียด/ และ ยืด (stretch) Proto-Tai *ɲɯ:tD /ญืด/ (พิทยาภรณ์ ค.ศ.2009) ขยับมาเป็น ʔyet /เอยด/ ที่หมายถึง การปั้นแต่ง ของพวกไทดำใน 'ความโตเมือง' (ซึ่งไม่ใช่คำที่หมายถึงการเสพสังวาส) เป็นความหมายเดียวกับของการ ทำ ที่ใช้กันในทุกวันนี้ของพวกไทลุ่ม ขยายไปจนถึงคำอื่นๆ เช่น
ฉุด แปลว่าดึงเข้ามาหาตัว
ดูด แปลว่าใช้ปากสูบดึงขึ้นมาเป็นสาย
ดวด แปลว่าดูดดื่มทีเดียวให้หมด
ยุด แปลว่ายื้อยุดฉุดกระชาก
ยึด แปลว่าหดตัวเข้ามา
ยื้อ แปลว่าแย่งยื้อระหว่างกันไปมา
เยื้อ แปลว่ายืดยาวนานออกไป
ยอด แปลว่าส่วนปลายสุด
ยวด แปลว่ายิ่งไปกว่ายอด
หยด แปลว่าไหลเป็นหยดๆ ย้อยๆ
หยาด แปลว่าไหลยืดหยดลง
หยอด แปลว่าค่อยๆ เทหยดยืดลงไป
หด แปลว่าย่นสั้นเข้า คล้ายคำว่า “ยึด” เป็นต้น ดังนั้นพวกไทลุ่ม คือพวกที่ยังรักษารูปและความหมายเก่าแก่ได้เป็นอย่างดี จนถึงทุกวันนี้ คำว่า เย็ต ไม่ได้เพี้ยนมาจาก เฮ็ด และ เฮ็ด ก็ไม่ได้เพี้ยนมาจาก เร็ด ปล. ภาษาตระกูลไท มี รากคำพยางค์เดียว (monosyllabic roots) แฝงฝังตัวอยู่อย่างชัดเจน และหลายๆ รากคำร่วมเหง้ากับทางออสโตรนีเซียน อ่านบทความฉบับเต็มได้ที่ www.academia.edu/35890798/ ...ขอบคุณครับ