ชาวโลกรู้ดีว่า สตีฟ จ๊อบส์ เป็นคนที่มองนอกกรอบเสมอ เขาสร้างสรรค์สิ่งใหม่ ๆ ที่เปลี่ยนแปลงโลกครั้งแล้วครั้งเล่า - iPod iPhone iPad ฯลฯ
เขากล่าวว่า “นาน ๆ ที ผลิตภัณฑ์ที่ปฏิวัติเปลี่ยนแปลงก็มาถึง แล้วเปลี่ยนแปลงทุกสิ่ง”
แต่เชื่อไหมว่าเขาเห็นว่าเครื่องแบบที่ดูจำเจเป็นสิ่งดี ๆ ที่ควรดำรงอยู่
สตีฟ จ๊อบส์ คิดอย่างนั้น? จริงหรือ?
ถามอีกที สตีฟ จ๊อบส์ คิดอย่างนั้น? จริงหรือ?
คำตอบคือจริง กับจริง
สตีฟ จ๊อบส์ รักประเทศญี่ปุ่น ชอบไลฟ์สไตล์ของญี่ปุ่นมาก ๆ เขาจัดเป็นพวก Japanophile (คนที่ชื่นชมญี่ปุ่น)
จ๊อบส์ร่วมงานกับบริษัทญี่ปุ่นหลายแห่ง เช่น โซนี เขาชื่นชม มอริตะ อะกิโอะ ผู้ก่อตั้งโซนีอย่างสูง
จ๊อบส์เห็นว่าโซนีสร้างสรรค์และเปลี่ยนแปลงโลกมากมาย เขารู้สึกตื่นเต้นกับผลิตภัณฑ์ของโซนี ตั้งแต่วิทยุทรานซิสเตอร์ โทรทัศน์ไตรนิทรอน มันส่งอิทธิพลต่อวิธีคิดของเขามาก
หลายครั้งเขาไปเยือนโซนีโดยไม่บอกล่วงหน้า สนทนากับเหล่าพนักงาน คุยไอเดียต่าง ๆ กับคนของโซนี
ครั้งหนึ่งเมื่อเยือนโรงงานโซนี เขาถามมอริตะว่าทำไมพนักงานทุกคนสวมเครื่องแบบ มอริตะตอบเขาว่าหลังสงครามโลกครั้งที่สอง ไม่มีใครมีปัญญาหาเสื้อผ้า โซนีจึงตัดเครื่องแบบให้พนักงานทุกคน มันประหยัด และเรียบง่าย
เรื่องบางเรื่อง Simplicity is the best.
หลังจากจ๊อบส์กลับอเมริกา เขาพยายามจะแนะนำเครื่องแบบให้บริษัท Apple แต่ชาวอเมริกันไม่ใช่ชาวญี่ปุ่น ทุกคนปฏิเสธเครื่องแบบเพราะมันสวนทางกับความเชื่อเรื่องเสรีภาพ
จ๊อบส์ไม่ว่าอะไร พวกคุณไม่สวมเครื่องแบบก็เรื่องพวกคุณ เขาจึงสวม ‘เครื่องแบบ’ ของเขาเอง เป็นแบบเดิมไปตลอดชีวิต
เพราะเขารู้ว่าเครื่องแบบกับเสรีภาพเป็นคนละเรื่องกัน เครื่องแบบกับความคิดสร้างสรรค์ก็เป็นคนละเรื่องกัน
การแต่งตัวง่าย ๆ ของเขา กางเกงยีน เสื้อยืดสีดำ ได้รับอิทธิพลมาจากวิธีคิดเรื่องเครื่องแบบของญี่ปุ่น
แต่จ๊อบส์ก็คือจ๊อบส์ เขาใช้แต่สินค้าที่มีดีไซน์ เสื้อยืดของเขาออกแบบโดยดีไซเนอร์ Issey Miyake ผู้ที่เขารู้จักจากการแนะนำของ มอริตะ อะกิโอะ เขาสั่งเสื้อยืดสีดำมาหลายร้อยตัว กะใช้จนวันตาย
กุว่ากุเหมือนตีฟจ็อบวะ