คดีพิธา (เพิ่งว่างเขียน -- โพสต์นี้ขออนุญาตไม่อ้างอิงเลขมาตรา เพราะขี้เกียจ)
1. เนื่องจากระบบกฎหมายรัฐธรรมนูญไทย กฎหมายเลือกตั้ง และกฎหมายพรรคการเมืองไทย มีการควบคุมที่ค่อนข้างสลับซับซ้อน หลายชั้น ดังนั้น สภาพบังคับจึงมีทั้งหมดหลัก ๆ สองส่วน คือ สภาพบังคับทางรัฐธรรมนูญ และ สภาพบังคับในทางอาญา ซึ่งสองเรื่องนี้ใช้คนละระบบและไม่เกี่ยวข้องกัน
2. ความจริงแล้วคณะกรรมการการเลือกตั้ง มีหน้าที่ตรวจสอบคุณสมบัติผู้ลงสมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรตั้งแต่ก่อนเลือกตั้ง เพราะกฎหมายกำหนดกลไกการ challenge (ฟ้องคดีต่อศาล) คุณสมบัติไว้แค่ "ก่อนการเลือกตั้ง" เท่านั้น การตรวจสอบและยื่นร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญหลังได้รับเลือกตั้ง เป็นการตรวจสอบคุณสมบัติของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ไม่ใช่คุณสมบัติของผู้สมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร) โดยหลักแล้วการมาตรวจสอบภายหลังนี้ จึงไม่ถูกต้อง (และไม่ถูกต้องมาตั้งแต่คดีธนาธรแล้วด้วย -- แต่ส่วนนี้จะไม่พูดถึงแล้ว)
2.1 ข้ออ้างที่บอกว่า แสดงบัญชีทรัพย์สินกับ ป.ป.ช. ไปแล้ว คนวิจารณ์ว่าไม่เกี่ยวกันเพราะอันนี้เป็นเรื่องของ กกต. ความจริงแล้วข้ออ้างของพิธาฟังขึ้นอยู่บ้าง เพราะรัฐธรรมนูญ 2560 เป็นรัฐธรรมนูญที่กำหนดให้องค์กรอิสระ ถ้าเห็นว่ามีการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ต้องส่งข้อมูลให้อีกองค์กรหนึ่งไปดำเนินการ แปลความอีกข้างก็คือ ป.ป.ช. นั้นพิจารณาแล้วคิดว่าทำได้ ไม่มีปัญหาอะไร ซึ่งย่อมเกิดความเชื่อถือและไว้วางใจขึ้นในระบบกฎหมาย
2.2 กกต. ไม่มีหน้าที่และอำนาจในการตรวจสอบคุณสมบัติของแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี (และเข้าใจว่าไม่มีองค์กรมีอำนาจในการตรวจสอบด้วย)
3. คณะกรรมการการเลือกตั้ง วินิจฉัยได้ถูกต้องว่า ขณะนี้ตนไม่มีอำนาจในการอยู่ดี ๆ จะไปตรวจสอบคดีถือหุ้นสื่อ เพราะไม่มีกฎหมายใดให้อำนาจกระทำเช่นนั้น ต่อเมื่อพิธาได้รับตำแหน่งแล้วต่างหากจึงจะสามารถยื่นต่อศาลรัฐธรรมนูญได้ตามกลไกตรวจสอบคุณสมบัติสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร