Fanboi Channel

วิวาทะการเมือง Vol .1

Last posted

Total of 897 posts

90 Nameless Fanboi Posted ID:rTz1l.zg0E

ว่าด้วยเรื่องนโยบายเศรษฐกิจ
.
1. หลายพรรคการเมืองขนนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจออกมาเสนอประชาชนในช่วงการเลือกตั้ง โดยบอกว่าที่ผ่านมาเศรษฐกิจไทยโตต่ำกว่าที่ควรจะเป็น (เฉลี่ยอยู่ที่ 3% ต่อปี) ซึ่งหากเป็นรัฐบาลจะทำให้เศรษฐกิจโตได้มากกว่านี้ (5% - 6% ต่อปี) อย่างไรก็ดี มีงานศึกษาเมื่อปี 2565 ประเมินว่าเศรษฐกิจไทยสามารถเติบโตได้ตามศักยภาพ (Potential GDP growth) 3.7% และกระทรวงการคลังประเมินว่าเศรษฐกิจไทยในปี 2566 จะโตอยู่ที่ 3.6% ซึ่งใกล้เคียงกับการเติบโตตามศักยภาพ
.
2. นโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจด้านอุปสงค์ที่เน้นการเพิ่มการจับจ่ายใช้สอยในระบบเศรษฐกิจจะทำให้เศรษฐกิจเติบโตเพิ่มขึ้นได้ แต่หากการเติบโตนั้นเกินกว่าการเติบโตตามศักยภาพ ผลิตภัณฑ์ภายในประเทศที่แท้จริง (Real GDP) จะกลับเข้ามาสู่การเติบโตตามศักยภาพในภายหลัง และเพิ่มเติมด้วยเงินเฟ้อที่เพิ่มขึ้น ซึ่งเงินเฟ้อปี 2566 คาดว่าจะกลับเข้าสู่กรอบเป้าหมายเงินเฟ้อ หลังจากที่ปี 2565 อัตราเงินเฟ้อเฉลี่ยทั้งปีอยู่ที่ 6.08% สูงสุดในรอบ 24 ปี
.
3. ต้นทุนของนโยบายเศรษฐกิจที่ควรพิจารณา
- ต้นทุนค่าเสียโอกาส (Opportunity cost) ของงบประมาณ ยิ่งใช้เงินงบประมาณกระตุ้นเศรษฐกิจมากเท่าไหร่ แปลว่างบประมาณสำหรับภาคส่วนอื่น อาทิ การศึกษา สาธารณสุข การเกษตร จะลดลงมากขึ้นเท่านั้น
- การกู้ยืมเงินเพื่อมาใช้จ่ายนโยบายจะส่งผลต่อวินัยการเงินการคลังของรัฐอย่างมาก เนื่องจากพื้นที่การคลัง (Fiscal Space) ลดลงอย่างมีนัยสำคัญจากสถานการณ์โควิดที่ผ่านมา ทำให้ปัจจุบันหนี้สาธารณะต่อ GDP อยู่ที่ 61.23% เกินกว่าที่กรอบวินัยการเงินการคลังเคยกำหนดไว้ช่วงก่อนโควิด
- การออกแบบนโยบายยิ่งยุ่งยากมากเท่าไหร่ ยิ่งมีคนตกหล่นมากเท่านั้น นโยบายที่มีต้นทุนในการเข้าถึงมาก อาจจะทำให้คนที่ต้องการมากที่สุดไม่สามารถเข้าถึงนโยบายได้ ประโยชน์จากนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจอาจจะไม่ทั่วถึง แต่เงินเฟ้อที่เพิ่มขึ้นจะเข้าถึงและส่งผลต่อทุกคนอย่างไม่เลือกหน้า
- หากเงินเฟ้อรุนแรงอาจทำให้ธนาคารแห่งประเทศไทยมีความจำเป็นต้องขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายอีก และจะยิ่งซ้ำเติมปัญหาหนี้ครัวเรือนของไทย ซึ่งปี 2566 คาดว่าจะอยู่ที่ 84% - 86.5% ต่อ GDP ชะลอตัวลงเป็นปีที่ 2 แต่ยังถือว่าสูงอยู่ (เป้าหมายของธนาคารแห่งประเทศไทยอยู่ที่ 80% ต่อ GDP)
.
4. ทางออกของประเทศไทยในเวลานี้จึงอาจจะไม่ใช่เน้นการกระตุ้นเศรษฐกิจระยะสั้นด้วยนโยบายด้านอุปสงค์ แต่ควรเน้นเพิ่มศักยภาพการเติบโตของประเทศระยะยาวด้วยนโยบายด้านอุปทาน คือเร่งการเพิ่มผลิตภาพ (Productivity) ให้กับปัจจัยการผลิตภายในประเทศ ลดการใช้ทรัพยากร และเปลี่ยนโครงสร้างระบบเศรษฐกิจ อาทิ
- ลดการผูกขาด เพิ่มการแข่งขันที่เป็นธรรม โดยเฉพาะอย่างยิ่งอุตสาหกรรมที่เป็นต้นทุนของระบบเศรษฐกิจ เช่น ไฟฟ้า เพื่อลดต้นทุนและเพิ่มประสิทธิภาพให้ระบบเศรษฐกิจ
- เชื่อมโยงกับต่างประเทศ เพื่อแสวงหาทรัพยากรใหม่ ๆ หรือใช้ประโยชน์จากห่วงโซ่อุปทานโลก
- ส่งเสริมการลงทุนที่เน้นเทคโนโลยี เศรษฐกิจสร้างสรรค์และส่งเสริมส่งแวดล้อม เพื่อให้โตได้เร็ว โตได้ไว และโตอย่างยั่งยืน
- ลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานที่สอดรับกับการเพิ่มผลิตภาพในประเทศ ลดความซ้ำซ้อน และกระจายสู่ท้องถิ่น รวมทั้งจัดการระบบให้ประชาชนสามารถเข้าถึงได้
- ลดต้นทุนในการเข้าถึงการศึกษาและสาธารณสุข รวมทั้งส่งเสริมคุณภาพการศึกษา ลดอำนาจนิยมในโรงเรียน เพื่อให้บุคลากรของชาติในรุ่นถัดไปกล้าคิด กล้าทำ และมีองค์ความรู้ที่สอดคล้องกับความท้าทายใหม่ ๆ ในโลกอนาคต
- ยกเลิกเกณฑ์ทหาร เลิกบังคับให้กำลังแรงงานออกจากระบบเศษฐกิจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงที่ประเทศเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุโดยสมบูรณ์
.
ประเทศไทยแก่ก่อนรวย เราอาจจำเป็นต้องระมัดระวังการใช้เงินให้มากขึ้น เราเหลือโอกาสอีกไม่มากที่จะรวย ถ้าเราทำไม่ได้ ภาระในการดูแลคนแก่ที่มีจำนวนมากกว่าเราจะตกสู่คนรุ่นเราและรุ่นถัด ๆ ไปอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

Be Civil — "Be curious, not judgemental"

  • FAQs — คำถามที่ถามบ่อย (การใช้บอร์ด การแบน ฯลฯ)
  • Policy — เกณฑ์การใช้งานเว็บไซต์
  • Guidelines — ข้อแนะนำในการใช้งานเว็บไซต์
  • Deletion Request — แจ้งลบและเกณฑ์การลบข้อความ
  • Law Enforcement — แจ้งขอ IP address

All contents are responsibility of its posters.