ขออนุญาตมองโลกในแง่ร้ายครับ
การที่พิธาไม่ได้เป็นนายก ปัญหาสำคัญอาจไม่ได้อยู่ที่ ส.ว.
คำถามของผมก็คือ หากรัฐธรรมนูญฉบับนี้ไม่มี ส.ว.เข้ามาเกี่ยวข้องในการเลือกนายกรัฐมนตรี นายพิธาจากพรรคก้าวไกลจะได้รับการสนับสนุนให้เป็นแคนดิเดทนายกไหม การรวมตัวของ 8 พรรคจะเกิดขึ้นไหม MOU 8 พรรคจะเกิดขึ้นไหม
สมมติฐานของผมก็คือ จะไม่มีการยอมให้พรรคก้าวไกลเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล เพียงแต่ครั้งนี้มี ส.ว. ให้เล่นก็เลยใช้ ส.ว.เป็นผู้แสดงการขัดขวาง เพื่อไม่ให้เกิดการโจมตีพรรคการเมืองที่จะร่วมกันขวางทางไม่ให้ก้าวไกลจัดตั้งรัฐบาล โดยเฉพาะพรรคที่เรียกตัวเองว่าฝ่ายประชาธิปไตย
หมายความว่าหากรัฐธรรมนูญฉบับนี้ไม่ได้ให้ ส.ว.มีอำนาจเลือกนายก มีแต่ ส.ส.ล้วนๆ พรรคการเมืองต่างๆก็จะจับมือกัน แล้วปล่อยให้พรรคก้าวไกลเป็นฝ่ายค้านตั้งแต่ต้น
เพราะอะไร เพราะเราก็ทราบกันดีมิใช่หรือว่าผู้ที่อยู่เบื้องหลังการเมืองไทย ก็คือเครือข่ายอำนาจที่ควบคุมผลประโยชน์มหาศาลของประเทศนี้ ไม่ว่าจะเป็นข้าราชการประจำที่นำโดยทหาร กลุ่มทุนผูกขาด และอำนาจที่มองไม่เห็นอื่นๆอีก
เครือข่ายอำนาจดังกล่าวไม่ยอมเสียประโยชน์อันมหาศาลแน่ ดังนั้นหากไม่มีอำนาจ ส.ว. เครือข่ายอำนาจพวกนี้ก็จะสนับสนุนพรรคการเมืองที่พวกเขาควบคุมได้ให้จับมือกันแต่แรกแล้ว
ในอดีตก็มีตัวอย่างให้เห็นโดยตลอด
การเลือกตั้งปี 2518 เรามีรัฐธรรมนูญฉบับที่เป็นประชาธิปไตยฉบับหนึ่ง เป็นการเลือกตั้งที่ประชาชนมีความตื่นตัวทางการเมือง เนื่องจากเกิดขึ้นหลังเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 ผลการเลือกตั้งปรากฏว่า ปชป.ได้คะแนนสูงสุด ซึ่งสถานการณ์เหมือนตอนนี้เลย คือ ทุกพรรคสนับสนุนให้ ปชป. ตั้งรัฐบาล เพราะได้รับคะแนนสูงสุด ไม่มีพรรคการเมืองใดตั้งรัฐบาลแข่งเลย แต่ว่าเมื่อตั้งแล้วก็ล้มยังไม่ทันได้บริหารประเทศ เพราะพรรคการเมืองส่วนใหญ่ไม่สนับสนุน ปชป.จึงต้องตั้งรัฐบาลเสียงข้างน้อย รัฐธรรมนูญฉบับนั้นกำหนดว่าก่อนรัฐบาลจะเข้าบริหารประเทศต้องแถลงนโยบายต่อสภาผู้แทนก่อน หากได้เสียงเห็นชอบไม่ถึงครึ่งรัฐบาลก็ต้องล้มไป
ที่ ปชป.ตั้งรัฐบาลไม่ได้ก็เพราะว่ากลุ่มอนุรักษ์นิยมที่มีอำนาจสูงสุดในขณะนั้นไม่ไว้ใจ ปชป. เพราะ ปชป.ประกอบด้วยคนหลายกลุ่ม มีพวกเสรีนิยมได้รับเลือกตั้งเข้ามาหลายคน เช่น นายอุทัย พิมพ์ใจชน นายดำรง ลัทธพิพัฒน์ นายวีระ มุสิกพงศ์ แม้แต่นายชวน หลีกภัย ตอนนั้นก็มองกันว่าเป็นเสรีนิยม และมีเค้าว่า ม.ร.ว.เสนี ปราโมช จะคุมพวกนี้ไม่ได้ ในขณะที่ในสภามีคนที่กลุ่มอนุรักษ์นิยมไว้ใจอยู่ด้วย คือ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช กลุ่มอนุรักษ์นิยมจึงสนับสนุนให้พรรคการเมืองที่เหลือจับมือกันตั้งรัฐบาล โดยมี ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ หัวหน้าพรรคกิจสังคม ซึ่งมี ส.ส.เพียง 18 คนเป็นนายกรัฐมนตรี
การเลือกตั้งปี 2526 พรรคการเมืองที่ไม่ต้องการสนับสนุนพลเอกเปรมเป็นนายก นำโดยพรรคชาติไทย ได้จับมือกันจนมีเสียงเกินครึ่งหนึ่งของสภา และสามารถผลักดันให้คนในกลุ่มตนเป็นประธานสภาได้ คือนายอุทัย พิมพ์ใจชน แต่ว่าทหารโดยการสนับสนุนของกลุ่มอนุรักษ์นิยมเข้าไปแทรกแซง และสามารถนำพรรคประชากรไทยออกมาได้ 1 พรรค ทำให้เกิดกรณีพรรคประชากรไทยเข้าไปร่วมรัฐบาลเดียวกันกับ ปชป. ทั้งที่ 2 พรรคนี้ประกาศผีไม่เผาเงาไม่เหยียบกันมานานแล้ว
สรุปคือพลเอกเปรมได้เป็นนายกอีกครั้งในฐานะนายกคนกลาง โดยการสนับสนุนของทหารและกลุ่มอนุรักษ์นิยม
การเลือกตั้งปี 2529 ปชป.ได้จำนวน ส.ส.สูงสุดคือ 100 คน จากจำนวน ส.ส.ทั้งหมด 347 เสียง ที่ ปชป.ได้ ส.ส.มาก เพราะนายวีระ มุสิกพงศ์ เลขาธิการพรรคสามารถประสานงานนำคนที่หลากหลายทั้งคนรุ่นใหม่และรุ่นเก่าเข้ามาเสริมจำนวนมาก เช่น สามารถดึงนายจาตุรนต์ ฉายแสง มาลงสมัครครั้งแรก ดึงนายไขแสง สุกใส อดีต ส.ส.นครพนมที่เพิ่งออกมาจากป่าได้ไม่นานเข้ามาลงเลือกตั้งด้วย
ในระหว่างหาเสียง ปชป. ประกาศว่าถ้าได้เสียงสูงสุดจะผลักดันนายพิชัย รัตตกุล หัวหน้าพรรคเป็นนายก แต่ฝันของ ปชป.ก็ไม่เป็นจริง เพราะทหารและกลุ่มอนุรักษ์นิยมต้องการให้พลเอกเปรมเป็นนายกต่อ จึงสนับสนุนให้พรรคกิจสังคมและพรรคชาติไทยจับมือกันแล้วบอกว่ามีเสียงมากกว่า ปชป. และพร้อมจะสนับสนุนให้พลเอกเปรมเป็นนายก ทำให้ ปชป.กลับตัวแทบไม่ทัน คือเข้าไปร่วมสนับสนุนให้พลเอกเปรมเป็นนายกเช่นเดิม