🍊 นโยบายก้าวไกล, ตลาดหุ้น, กับรัฐสวัสดิการ
ประวัติศาสตร์โลก: กรณีศึกษาตลาดหุ้นหลังรัฐบาลผลักดันนโยบายรัฐสวัสดิการ
คนพูดกันหนาหูถึงเรื่องต่างชาติเทขายหุ้นและพันธบัตรไทยหลังมีแนวโน้มว่าพรรคก้าวไกลจะมีโอกาสได้เป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล สิ่งที่นักลงทุนกลัว คือ ภาระทางการคลังในการสร้างรัฐสวัสดิการ ซึ่งรายจ่ายสูง และจะหารายได้เข้ามาได้เพียงพอหรือไม่ รวมถึงแนวทางทลายทุนผูกขาด และนโยบายการขึ้นภาษี ทำให้คนกังวลถึงโอกาสเติบโตของธุรกิจ
ผมเห็นด้วยว่านโยบายรัฐสวัสดิการของก้าวไกลมีความเสี่ยงครับ ทั้งกับตลาดหุ้นและตลาดพันธบัตร แต่ถ้าเราพูดถึงปัจจัยพื้นฐานของประเทศ แนวทางนี้เป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงได้ยาก ไม่งั้นเศรษฐกิจไทยก็จะโตจากรูปแบบทุนผูกขาดต่อเนื่องไป สำหรับผมคิดว่า ยังไงไทยก็ต้องถอยหนึ่งก้าวเพื่อปรับโครงสร้างเศรษฐกิจให้เหมาะสมกับอนาคต ซึ่งยังไงก็กระทบกับตลาดอยู่แล้ว เราลองมองภาพไทยในรอบ 10 ปีที่ผ่านมา growth opportunity มันหายไปหมดแล้วตลาดหุ้นวิ่งอยู่แถวนี้มายาวนาน เพราะโอกาสเติบโตมีจำกัดเหลือเกิน
ด้วยโครงสร้างเศรษฐกิจที่บิดเบี้ยว ยังไงการแก้อย่างหนึ่งก็ย่อมไปกระทบอีกอย่างหนึ่ง อย่างที่ผมบอกไปมันเลี่ยงได้ยาก นโยบายรัฐสวัสดิการมันคือการเอาเงินคนรวยมาช่วยคนจน หลายคนก็ย่อมไม่เห็นด้วย โดยเฉพาะกลุ่มคนรวย
แต่ส่วนตัวผมก็ไม่เห็นทางออกอื่น ที่จะช่วยทำให้คนไทยหลุดกับดักรายได้ปานกลางได้ นอกจากการแก้ไขเชิงโครงสร้าง ซึ่งแน่นอนว่า bet มันสูงครับ แต่ถ้าทำได้ “อาจ” จะทำให้ไทยเติบโตได้ในระยะยาว
โพสนี้ผมอยากยกกรณีศึกษารัฐบาลที่ผลักดันนโยบายรัฐสวัสดิการอย่างเข้มข้นในประวัติศาสตร์โลกที่ผ่านมา มีผลกระทบกับตลาดทุนอย่างไรบ้าง ใช้ในการอ้างอิง แต่ย้ำว่าบริบทของแต่ละประเทศแต่ละช่วงเวลา ก็อาจจะมีผลลัพธ์ที่แตกต่างกันได้
1️⃣ Franklin D. Roosevelt's New Deal (1930s, United States)
ในช่วงปี 1929 สหรัฐอเมริกาประสบวิกฤติเศรษฐกิจครั้งที่รุนแรงที่สุดคือ The great depression หลังจากนั้นเมื่อประธานาธิปดีรูสเวลท์ขึ้นรับตำแหน่งในปี 1933 รัฐบาลสหรัฐก็เริ่มประกาศ New Deal ที่เป็นนโยบายยกระดับปฏิรูปเศรษฐกิจครั้งใหญ่ การขึ้นภาษีภาคธุรกิจ รวมถึงรัฐสวัสดิการจำนวนมาก (ประกันสังคมถ้วนหน้าให้คนตกงาน คนแก่ และผู้พิการ, รัฐจัดหางานให้ประชาชนทำงานในการพัฒนา infrastructure พื้นฐานของประเทศ, ให้คนตกงานเข้ามาร่วมทำงานขับเคลื่อนด้านสิ่งแวดล้อม, วางมาตรฐานค่าแรงขั้นต่ำ และพัฒนาคุณภาพชีวิตในการทำงานของคนงาน และสนับสนุนการก่อตั้งสหภาพแรงงาน)
หลังนโยบายรัฐสวัสดิการ (รวมถึงการกระตุ้นเศรษฐกิจหลายอย่าง) นักลงทุนตอบสนองในทางบวก และมีความเชื่อมั่นในรัฐบาลสูงขึ้น ตลาดหุ้นสหรัฐ (ดูภาพที่ 1 New Deal เริ่มต้นปี 1933)
2️⃣ Clement Attlee's Labour Government (1945-1951, United Kingdom)
หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 รัฐบาลอังกฤษโดยการนำของ Clement Attlee (ใช่ครับ นายกรัฐมนตรีจากพรรคแรงงานที่ประชนชนชาวอังกฤษเลือกจนชนะรัฐบุรุษสงครามโลกอย่าง Winston Churchill จากพรรค conservative นั่นแหละ) โดย Attlee ผลักดันนโยบายรัฐสวัสดิการจำนวนมากเพื่อฟื้นฟูประเทศจากสงคราม โดยนำด้วยนโยบาย 0 บาทรักษาทุกโรค (NHS) ที่ให้ประชาชนชาวอังกฤษเข้าถึงระบบการรักษาพยาบาลและยาของรัฐโดยไม่มีค่าใช้จ่าย, นโยบายประกันสังคมและสิทธิประโยชน์แรงงาน เช่น เงินให้เปล่ากับครอบครัวที่มีบุตร เงินให้เปล่าคนตกงาน ฯลฯ, นโยบายเรียนฟรี มีการขึ้นภาษีธุรกิจ ภาษีที่ดิน และภาษีคนรวย แต่ทำควบคู่ไปด้วยกับนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจและการฟื้นฟูประเทศหลังภาวะสงครามจำนวนมาก
หลังการขึ้นดำรงตำแหน่งของ Attlee นักลงทุนมีความกังวลอย่างมากโดยเฉพาะเป็นช่วงภาวะหลังสงครามโลก และระบบเศรษฐกิจที่เปราะบาง การอัดฉีดรัฐสวัสดิการและเพิ่มภาษีภาคธุรกิจ ทำให้ตลาดหุ้นไม่ตอบสนองในเชิงบวก แต่ในระยะยาวระบบเศรษฐกิจของอังกฤษก็มีความแข็งแกร่ง สร้างความเชื่อถือให้นักลงทุนและเติบโตต่อเนื่อง