ในสมรภูมิเคิร์สก์ปี 1943 ทุ่นระเบิดก็มีบทบาทที่สำคัญไม่ใช่น้อย อย่างไรก็ดี อาวุธต่อสู้รถถัง เวห์รมาคท์ (Wehrmacht) และรถถังแพนเซอร์ (Panzer) มีความสำคัญมากกว่า โดยได้สังหารรถถังรัสเซียไปเป็นจำนวนมากมายกว่าที่ฝ่ายรัสเซียสามารถแข่งขันได้จากการทำลายรถถังเยอรมันของพวกเขา
ฝ่ายรัสเซียได้นำเอารถถัง T-34 ของพวกเขาไปซุกซ่อนอำพรางไว้ ซึ่งช่วยปกป้องรถถังเหล่านี้ได้ในระดับหนึ่ง ทว่าก็ทำให้พวกมันตกเป็นเป้าหมายที่ทำลายได้ง่ายๆ เมื่อเกิดการสู้รบแบบตะลุมบอน ขณะที่ T-34 ได้รับการยกย่องชมเชยในเวลาต่อมา แต่มันมีจุดอ่อนตรงที่ไม่ได้มีกำลังยิงในระดับรถถังของเยอรมัน รวมทั้งไม่มีทัศนศาสตร์ที่แม่นยำ และทักษะการเติมน้ำมันที่พัฒนามาอย่างดีซึ่งเป็นสิ่งที่การฝึกอบรมแบบเยอรมันผลิตขึ้น
มี T-34 ถูกทำลายไปเป็นจำนวนสูงกว่ารถถังเยอรมันมากมายนัก ทว่าลงท้ายฝ่ายรัสเซียก็ยังคงสามารถทำให้กองทัพเยอรมนีพ่ายแพ้ได้
ลักษณะโดดเด่นอย่างหนึ่งของการรุกที่ฝ่ายเยอรมนีใช้ในการชิงแคว้นเคิร์สก์ ได้แก่การสู้รบอย่างดุเดือดเลือดพล่านรอบๆ เมืองเล็กๆ ชื่อ โปรโครอฟกา (Prokhorovka) –ซึ่งเป็นกิจการที่สิ้นเปลืองค่าใช้จ่ายสูงมาก และมีลักษณะตีได้แล้วก็เสียไปกลับไปกลับมา การโจมตีของฝ่ายเยอรมันนั้นถือเป็นส่วนหนึ่งของยุทธการโรแลนด์ (Operation Roland) และเป็นส่วนหนึ่งของการรุกที่มีขนาดกว้างขวางกว่านั้นอีกเพื่อช่วงชิงแคว้นเคิร์สก์ ซึ่งเยอรมนีเรียกชื่อว่า ยุทธการซิทาเดล
ในท้ายที่สุดแล้วฝ่ายรัสเซียสูญเสียทหารไป 800,000 คน (ทั้งถูกสังหารและได้รับบาดเจ็บ) เปรียบเทียบกับฝ่ายเยอรมันที่สูญเสียทหาร 200,000 คน –โดยที่ฝ่ายเยอรมันมีความตระหนักถึงความจริงที่ว่า กองทัพรัสเซียซึ่งฝ่ายเยอรมันเขมือบกินอย่างสบายก่อนหน้านี้ ได้สุกงอมกลายเป็นกองกำลังสู้รบที่น่านับถือ โดยมีลักษณะเด่นๆ อยู่ที่การบังคับบัญชาที่ดีขึ้น การร่วมมือประสานงานในสนามรบอยู่ในระดับสูงขึ้น และ –สิ่งสำคัญที่สุด ได้แก่ –ความปรารถนาที่จะยืนหยัดและสู้รบในท่ามกลางผู้บาดเจ็บล้มตายอย่างน่าสยดสยอง