ในซาโปริซเซีย ฝ่ายยูเครนกำลังพยายามจัดตั้งพื้นที่หัวหาดหลายๆ แห่งขึ้นมา ซึ่งถ้าหากประสบความสำเร็จแล้ว เป้าหมายในท้ายที่สุดที่จะเป็นการขยายจากพื้นที่หัวหาดเหล่านี้ เพื่อตัดกองกำลังฝ่ายรัสเซียให้ขาดออกเป็นหลายๆ ส่วน และสามารถสถาปนาที่มั่นริมทะเลอาซอฟ (Sea of Azov) ขึ้นมาสักแห่งหนึ่ง
ฝ่ายยูเครนมีกำลังพลอยู่ราวๆ 12 กองพลน้อย ซึ่งได้รับการฝึกอบรมจากนาโตเพื่อวัตถุประสงค์ในการนี้ ในจำนวนนี้มี 9 กองพลน้อยที่ได้รับการประกอบอาวุธของฝ่ายตะวันตก อาวุธเหล่านี้มีหลายหลากทั้ง รถถัง ยานสู้รบทหารราบ (infantry fighting vehicles หรือ IFVs) รถลำเลียงพลหุ้มเกราะ (armored personnel carriers หรือ APCs) รถหุ้มเกราะต้านทานทุ่นระเบิดและการซุ่มโจมตี (mine-resistant ambush-protected หรือ MRAP vehicles) และยุทโธปกรณ์อื่นๆ อีกจำนวนมาก
สำหรับแนวรบนั้นจัดว่ายาวเหยียดแนวรบหนึ่งทีเดียว และเวลานี้กำลังมีการสู้รบดำเนินอยู่ในหลายๆ สมรภูมิ ขณะที่ฝ่ายยูเครนกำลังมองหาทางเจาะทะลุทะลวงผ่านกองกำลังรัสเซียซึ่งตั้งรับอย่างเหนียวแน่นโดยมีการจัดทำแนวป้องกันหลายๆ ชั้นซึ่งมีความลึกในระดับสำคัญ
ในสมรภูมิชิงแคว้นเคิร์สก์เมื่อครั้งสงครามโลกครั้งที่สอง ทั้งสองฝ่ายต่างระดมกำลังทางอากาศของพวกเขาออกมาใช้ โดยภาพรวมแล้ว กองทัพอากาศเยอรมนีหรือที่เรียกกันในภาษาเยอรมันว่า ลุฟต์วัฟเฟอ (Luftwaffe) ประสบความสำเร็จอย่างสำคัญในสมรภูมิ ทว่าด้วยค่าใช้จ่ายความสูญเสียที่สูงลิบลิ่ว โดยที่ ลุฟต์วัฟเฟอ นำเอาทั้งเครื่องบินขับไล่ เครื่องบินโจมตีภาคพื้นดิน และเครื่องบินทิ้งระเบิดมาใช้งาน
ฝ่ายรัสเซียก็มีการทุ่มเทให้แก่การสู้รบเป็นอย่างดี ด้วยการระดมเครื่องบินจำนวนเป็นพันๆ ลำ ในนี้มีทั้งอิลยูชิน อิล-2 สตอร์มโมวิค (Ilyushin IL-2 Stormovik เครื่องบินโจมตีภาคพื้นดิน) และลาวอชคิน แอลเอ-5 (Lavochkin LA-5 เครื่องบินขับไล่) พูดโดยรวม รัสเซียสูญเสียเครื่องบินไป 1,130 ลำ เปรียบเทียบกับฝ่ายเยอรมนีที่สูญเสียไป 711 ลำ แต่ว่าเยอรมนีจะเจอปัญหาใหญ่ๆ ทีเดียวทั้งในเรื่องการหาเครื่องบินทดแทนลำที่สูญเสียไป ตลอดจนการจัดหาน้ำมันเชื้อเพลิงมาอย่างเพียงพอสำหรับให้เครื่องบินของตนยังคงขึ้นบินต่อไปได้ เยอรมนียังสูญเสียนักบินชั้นเยี่ยมที่สุดของตนไปจำนวนหนึ่ง โดยในเวลาเดียวกันนั้น พวกนักบินรัสเซียซึ่งอยู่ในระดับ “อ่อนหัด” ได้เรียนรู้เพิ่มประสบการณ์มากขึ้นเรื่อยๆ จากการสู้รบจริงๆ