ทั้งนี้ อี ฮยอนซอกวิเคราะห์ว่า สาเหตุดังกล่าวอาจเป็นเพราะอุตสาหกรรมของญี่ปุ่นที่มีความอนุรักษนิยมมาก “มีความเชื่อที่หนักแน่นว่าการยึดติดกับแบบอย่างย่อมดีกว่า”
.
สอดคล้องกับสิ่งที่ดิอีโคโนมิสต์ระบุ คือรูปแบบทางธุรกิจของอุตสาหกรรมมังงะญี่ปุ่นแทบจะไม่เปลี่ยนแปลงเลยตั้งแต่ทศวรรษ 1960 โดยเฉพาะอย่างยิ่ง โครงสร้างของการ์ตูนญี่ปุ่นที่กำหนดให้อ่านจากด้านขวาไปซ้าย และอ่านในแนวตั้ง ซึ่งเป็นรูปแบบที่คุ้นเคยเฉพาะในญี่ปุ่น เกาหลี หรือชาวตะวันตกที่เป็นแฟนมังงะเท่านั้น
.
ที่สำคัญ ถึงแม้ว่ามังงะจะค่อยๆ ปรับเปลี่ยนไปเป็นรูปแบบการอ่านแบบดิจิทัล แต่การออกแบบรูปแบบดังกล่าวยังเหมาะกับการเป็นสื่อสิ่งพิมพ์มากกว่า ส่งผลให้ตัวอักษรและช่องการ์ตูนบนการอ่านแบบสมาร์ตโฟนมีขนาดเล็ก ซึ่งทำให้ผู้อ่านต้องคอยขยายหน้าจอเข้าออกเพื่ออ่านตลอดเวลา
.
ในทางกลับกัน การ์ตูนของเกาหลีถูกออกแบบให้พอดีกับหน้าจอสมาร์ตโฟนอยู่แล้ว และตลาดมันฮวาก็ขยายใหญ่ขึ้น โดยได้รับความนิยมผ่านรูปแบบที่อ่านง่ายและการเล่าเรื่องที่เข้าใจง่าย จากข้อมูลของหน่วยงานกำกับดูแลคอนเทนต์ของเกาหลีใต้ (Korea Creative Content Agency: KOCCA) ระบุว่าในปี 2021 ขนาดของตลาดการ์ตูนมันฮวาภายในประเทศมีมูลค่า 1.538 ล้านล้านวอน (1,200 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ)
.
ทั้งนี้ ดิอีโคโนมิสต์วิเคราะห์ว่า เว็บมันฮวาของเกาหลีใต้ก็เป็นอีกภาคส่วนที่ได้รับประโยชน์จาก ‘นวัตกรรม’ และ ‘การตลาดที่ชาญฉลาด’ ของเนื้อหาแบบเกาหลีที่ได้รับความนิยมไปทั่วโลก เช่นเดียวกับอุตสาหกรรมบันเทิงอื่นๆ เช่น ซีรีส์เน็ตฟลิกซ์อย่างเรื่อง Squid Game หรือกลุ่มศิลปินเคป็อปอย่าง BTS
.
อย่างไรก็ดี ดิอีโคโนมิสต์ก็ชี้ให้เห็นว่าอย่างน้อยที่สุด มังงะของญี่ปุ่นก็พยายาม ‘ยึดมั่น’ ในสิ่งที่ทำได้ดีที่สุด และพยายามรักษาจุดแข็งไว้ได้ ทั้งรูปแบบเลย์เอาต์ที่สามารถเล่าเรื่องราวที่ซับซ้อนของมังงะได้ และระบุว่ามังงะหลายเรื่องถือเป็น ‘สิ่งมหัศจรรย์ทางด้านศิลปะ’ จากการออกแบบที่ละเอียดใน ‘ระดับมิลลิเมตร’ เช่น การวาดด้วยหมึกที่ซับซ้อนของมังงะ ‘Vagabond’ ไปจนถึงภาพวาดที่เหนือจริงของ ‘Berserk’ ซึ่งล้วนแต่เป็นผลงานระดับตำนานทั้งสิ้น
.
นอกจากนี้ ในบทความยังวิเคราะห์ว่า ‘เส้นเรื่องที่แข็งแรง’ และ ‘การวาดที่คราฟต์ราวกับงานฝีมือ’ ของมังงะ ทำให้ตลาดมังงะยังคงรักษาผู้อ่านในประเทศได้อย่างเหนียวแน่น แต่สิ่งนี้ก็เหมือนเป็นดาบสองคมที่ทำให้สำนักพิมพ์มีแรงจูงใจในการคิดค้นสิ่งใหม่ๆ หรือเปลี่ยนแปลงเพียงเล็กน้อยเท่านั้น อย่างไรก็ดี แม้ว่าการเติบโตในธุรกิจอาจดูไม่แน่นอน แต่สำนักพิมพ์เหล่านี้ก็ยังสามารถหาโอกาสในการเพิ่มรายได้จากการดัดแปลงมังงะสู่อนิเมะ หรือการร่วมมือทางธุรกิจกับบริษัทที่ผลิตสินค้าแนวมังงะออกวางขาย
.
ทั้งนี้ ยังมีข้อกังวลอย่างต่อเนื่องสำหรับอนาคตของมังงะญี่ปุ่น โดยเฉพาะแฟนการ์ตูนที่มีอายุมากขึ้นเรื่อยๆ ทำให้ผู้อ่านเฉลี่ยของนิตยสารที่ตีพิมพ์มังงะยอดนิยมทั้งหลาย อาทิ Weekly Shonen Jump มีจำนวนลดลง เนื่องจากคนหนุ่มสาวเริ่มเปลี่ยนไปอ่านมันฮวาเกาหลีจากบนสมาร์ตโฟนมากขึ้น
.
สิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นโจทย์ที่อุตสาหกรรมมังงะของญี่ปุ่นต้องคิดและชั่งน้ำหนักให้ดี การยึดมั่นในจุดแข็งที่สั่งสมมาตั้งแต่อดีตถือเป็นเรื่องที่ดี แต่ต้องไม่ลืมว่า โลกหมุนไปข้างหน้าตลอดเวลาพร้อมกับเทคโนโลยีและสิ่งใหม่ๆ ไม่มีใครหรืออุตสาหกรรมใดหลีกหนีความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นได้