นับตั้งแต่ทศวรรษ 1960 หลังจาก เทะซูกะ โอะซามุ (Tezuka Osamu) ปรมาจารย์แห่งการ์ตูนญี่ปุ่นในตำนาน ผู้ได้รับการยกย่องว่าเป็นบิดาของมังงะยุคใหม่ เริ่มวางรากฐานในลายเส้นและการเล่าเรื่อง อุตสาหกรรมมังงะ (Manga) หรือการ์ตูนจากญี่ปุ่นก็เริ่มเติบโตขึ้นเรื่อยๆ มีมังงะหลายเรื่องที่ได้รับความนิยมสูงและกลายเป็นตำนาน รวมถึงนำไปสร้างเป็นอนิเมะ ละครโทรทัศน์ และภาพยนตร์หลายเรื่อง สร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจให้ญี่ปุ่นเป็นอย่างมาก
.
อย่างไรก็ดี ไม่นานมานี้ สื่อยักษ์ใหญ่อย่างดิอีโคโนมิสต์ (The Economist) ได้ตีพิมพ์บทความที่ระบุว่า ยุครุ่งเรืองของอุตสาหกรรมมังงะญี่ปุ่นที่เหมือน ‘ไม่มีใครกล้าแตะต้อง’ กำลังค่อยๆ สิ้นสุดลง พร้อมกับความนิยมที่เพิ่มขึ้นของ ‘มันฮวา’ หรือการ์ตูนของฝั่งเกาหลีใต้ โดยเฉพาะใน ‘เว็บตูน’ หรือแพลตฟอร์มสำหรับอ่านการ์ตูนออนไลน์
.
อี ฮยอนซอก (Lee Hyun-seok) นักวาดการ์ตูนชาวเกาหลีใต้ผู้เติบโตมากับมังงะญี่ปุ่นอย่างดราก้อนบอลหรือสแลมดังก์ และย้ายไปประสบความสำเร็จในฐานะนักวาดการ์ตูนและบรรณาธิการที่ญี่ปุ่น เล่าว่า ในช่วงต้นทศวรรษ 2000 ‘เว็บตูน’ ซึ่งเป็นนวัตกรรมการ์ตูนของเกาหลีใต้ที่ปรับให้เหมาะกับสมาร์ตโฟนถือกำเนิด เขาไม่ได้ประทับใจนัก โดยระบุว่าเว็บตูนนั้น ‘หยาบ’ และ ‘ผิวเผิน’ เมื่อเปรียบเทียบกับรูปแบบการสร้างสรรค์และโครงเรื่องที่ซับซ้อนของมังงะญี่ปุ่น
.
ข้อมูลจากดิอีโคโนมิสต์เผยให้เห็นว่า ขนาดของตลาดการ์ตูนญี่ปุ่นลดลง เมื่อเทียบกับการเติบโตของตลาดการ์ตูนเกาหลี โดยปีที่แล้วตลาดสิ่งพิมพ์มังงะหดตัว 2.3% เป็นมูลค่า 2.65 แสนล้านเยน (1,900 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ) ขณะที่ขนาดของตลาดเว็บตูนทั่วโลกมีมูลค่า 3,700 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ และคาดว่าจะสูงถึง 5.6 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ภายในปี 2030
.