สารานุกรมวัฒนธรรมภาคใต้ ๒๕๒๙ เล่ม ๘ ให้ความหมาย “แลน” ไว้ว่า
“แลน” ในความรู้สึกของชาวภาคใต้เป็นสัตว์ที่น่ารังเกียจด้วย ๒ สาเหตุ คือ แลนชอบกินของเน่าเหม็น โดยเฉพาะซากศพของสัตว์ แม้กระทั่งซากศพของคน และชอบกินสัตว์ เช่น อึ่งอ่าง คางคก เขียด และตัวหนอน
บางแห่งถึงกับไม่ให้นำแลนเข้าบ้านเพราะเชื่อกันว่าถ้าแลนขึ้นบ้านใคร บ้านนั้น “โส้ย” (ซวย) เป็นอัปมงคล
เรื่องราวของแลนในภาคใต้นั้นปรากฏในรูปแบบนิทานพื้นบ้านเรื่อง “แลนทองกับแลนเถื่อน” เล่ากันในเขต อำเภอรัตภูมิ จังหวัดสงขลา และอำเภอปากพะยูน จังหวัดพัทลุง เป็นนิทานให้คติสอนใจว่าด้วยโทษของความอิจฉาริษยา โดยเล่าว่า
มีหญิงสาว ๒ คน คนหนึ่งยากจน แต่ชอบเอื้อเฟื้อชาวบ้าน อีกคนร่ำรวย แต่เย่อหยิ่ง ดูถูกชาวบ้าน ทั้งสองเป็นเพื่อนกัน วันหนึ่งหญิงยากจนพบแลนทองตัวหนึ่ง จึงนำมาเลี้ยงไว้ที่บ้านด้วยความอารี วันหนึ่งเธอจึงจูบที่หัวแลน ทำให้แลนทองตัวนั้นพ้นจากคำสาปแม่มดกลายเป็นชายหนุ่มรูปงาม ซึ่งเป็นลูกชายของเจ้าเมืองคนหนึ่ง ทั้งสองจึงแต่งงานกันอย่างมีความสุขสืบมา ต่อมาหญิงผู้ร่ำรวยทราบข่าว เกิดความอิจฉาริษยา ต้องการจะได้ดีกว่าเพื่อนที่อดีตเคยยากจน จึงจ้างให้คนใช้ไปจับแลนตัวโตมาให้ตัวหนึ่ง นางกอดจูบแลนเถื่อน (แลนธรรมดา) หวังจะให้กลายเป็นหนุ่มรูปงาม แต่แลนเถื่อนตกใจ ข่วนหน้าตาหญิงสาวคนนั้นเป็นแผล ตั้งแต่นั้นมาหญิงสาวคนนั้นก็ไม่มีใครขอแต่งงานด้วย