สำนวน หมาลอบกัด ใช้ในการเปรียบเปรยถึง คนที่ลอบทำร้าย หรือ คอยกลั่นแกล้งผู้อื่นลับหลัง ในทีเผลอ
ที่มาของสำนวน หมาลอบกัด ในภาษาไทยมีสำนวนที่เกี่ยวกับสุนัขหลายสำนวน เนื่องจากคนไทยมักจะเลี้ยงสุนัขไว้ในบ้าน มักจะสังเกตอาการพฤติกรรมต่าง ๆ ของสุนัขได้ดี จึงนำข้อสังเกตนั้นมาเป็นสำนวนเพื่อสั่งสอนคนหลายสำนวน และในสำนวนนั้นใช้คำว่า หมา โดยเปรียบคนที่ทำอาการไม่ดีต่าง ๆ ว่าเป็นหมา เช่น คนที่เข้ากับคน ๒ ฝ่ายที่ไม่ถูกกัน เรียกว่า หมาสองราง. ชายที่หยอกล้อหญิงสาวอย่างทีเล่นทีจริง ในทำนองชู้สาว เรียกว่า หมาหยอกไก่. คนที่หวงสิ่งที่ตนใช้ประโยชน์ไม่ได้ เรียกว่า หมาหวงก้าง. คนที่มีข้อบกพร่องหรือข้อผิดพลาดแล้วชวนคนอื่นให้ทำตาม เรียกว่า หมาหางด้วน. คนที่เดือดร้อนกระวนกระวาย เรียกว่า หมาถูกน้ำร้อน. เปรียบคนที่ไม่สามารถได้ของที่ต้องการว่า เหมือนหมาเห็นข้าวเปลือก. เปรียบคนที่ไม่มีคนรักว่าเป็นหมาหัวเน่า. ส่วนคนที่ชอบยกตนเองโดยไม่มีใครเห็นด้วย จะถูกล้อว่า หมาขี้ไม่มีใครยกหาง.
สำนวนที่เกี่ยวกับสุนัขมีอีกหลายสำนวน เป็นสำนวนที่เปรียบอาการต่าง ๆ ของสุนัขกับคนเมื่อต่อสู้หรือเผชิญกับศัตรู เช่น หมาลอบกัด หมายถึง คนที่แอบทำร้ายผู้อื่นลับหลัง.
หมา หมายถึง น. ชื่อสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมหลายชนิดหลายสกุล ในวงศ์ Canidae มีรูปร่างและสีสันแตกต่างกัน ลำตัวมีขนปกคลุม หัวอาจยาวและแหลม หรือกลมและสั้น มีเขี้ยว ๒ คู่ ตีนหน้ามี ๕ นิ้ว ตีนหลังมี ๔ นิ้ว ซ่อนเล็บไม่ได้ อวัยวะเพศของตัวผู้มีกระดูกอยู่ภายใน ๑ ชิ้น หางค่อนข้างยาว ที่ยังคงเป็นสัตว์ป่า เช่น หมาใน [Cuon alpinus (Pallas)] ที่เลี้ยงเป็นสัตว์บ้าน คือ ชนิด Canis familiaris (Linn.) บางพันธุ์สามารถนำมาฝึกหัดให้ช่วยงานของมนุษย์ได้ เช่นสุนัขสงครามหรือสุนัขตำรวจ.
ลอบ หมายถึง ก. แอบทำโดยไม่ให้ผู้อื่นรู้เห็น เช่น ลอบทำร้าย ลอบเข้าไปในหมู่ข้าศึก.
กัด หมายถึง (๑) ก. เอาฟันกดไว้โดยแรง เพื่อไม่ให้สิ่งที่กดไว้หลุดไป เช่น กัดสำลีไว้ให้แน่น หรือเพื่อให้เข้าไป ให้ทะลุ ให้ฉีกขาด เป็นต้น เช่น สุนัขกัดเข้าไปถึงกระดูก หนูกัดผ้าเป็นรู, โดยปริยายหมายความว่า ทำให้กร่อนสลายหรือจางไป เช่น สนิมกัดเหล็ก กัดสิวกัดฝ้าออกให้หมด, ทำให้เปื่อยเป็นแผล เช่น ปูนกัดปาก น้ำกัดเท้า