ส่วนพระอาจารย์มานพ อุปสโม แนะนำวิธีแก้ไขไว้ว่า หากมีการใส่ร้าย เราควรชี้แจงว่าความจริงเป็นอย่างไร แต่ใครจะเชื่อนั้นเป็นเรื่องสุดวิสัย เราไม่ควรทุกข์ใจ เพราะเราไม่ได้เป็นอย่างที่เขาใส่ร้าย ปุถุชนย่อมหวั่นไหวเป็นธรรมดา เราต้องทำใจให้หนักแน่นด้วยการนั่งสมาธิให้มาก สักวันเขาจะเข้าใจเราเอง ขอเพียงเราอย่าเป็นอย่างที่เขาใส่ร้ายเท่านั้นพอ
เช่นเดียวกับที่ ท่านปิยสีโลภิกขุ กล่าวไว้ว่า ท่าทีที่พึงมีต่อคำนินทา คือ น้อมนำมาใคร่ครวญ เพราะอาจทำให้เห็นข้อบกพร่องที่ตนไม่เคยมองมาก่อน แม้คำนินทานั้นจะไม่จริง เรายังอาจวิเคราะห์สาเหตุที่ทำให้มีผู้มองเราในแง่ลบได้เช่นกัน และหากอยู่ในวิสัยจะแก้ไขปรับปรุงได้ เราย่อมมีโอกาสพัฒนาตนเองให้ดีขึ้น มองในแง่นี้ ควรขอบคุณผู้นินทาเสียด้วยซ้ำ
ที่สุดแล้ว คำนินทาควรทำให้ตระหนักได้ว่า ไม่มีใครเป็นที่พอใจของทุกคนได้ ต่อให้ปฏิบัติดีเพียงใด ย่อมไม่แคล้วมีผู้มองในแง่ลบ ความเข้าใจนี้ช่วยให้คลายความคาดหวังต่อการกระทำของตนเองลง สามารถทำความดีโดยไม่ต้องเกร็งกับคำพิพากษาของใคร