ช่วงนี้เห็นกลับมาพูดถึง 2475 อีกเยอะ ทั้งฝ่ายก้าวหน้าและฝ่ายอนุรักษ์ มีทั้งการ์ตูนและอนิเมชั่นประชันกัน ก็สนุกดี ทำกันมาเยอะๆ ครึกครื้น
แต่ผมอยากจะขอเสนอสองปัจจัยที่คนไม่ค่อยพูดถึง เกี่ยวกับปี 2475 : 1932 ว่าเป็นตัวแปรสำคัญให้เกิดปฏิวัติขึ้น
หนึ่งคือไข้หวัดสเปน โรคระบาดครั้งใหญ่ ระหว่างปี 1918-1920
สองคือสภาวะเศรษฐกิจตกต่ำครั้งใหญ่ทั่วโลก ในปี 1928
โรคระบาดใหญ่ไข้หวัดสเปน ได้ส่งผลกระทบสำคัญคือ พระบรมวงศานุวงศ์และประชากรไทยส่วนหนึ่งล้มป่วย สิ้นพระชนม์ ทิวงคต เสียชีวิตไปจำนวนมาก กระทบต่อการบริหารราชการแผ่นดิน และที่สำคัญอย่างยิ่ง ลำดับการสืบราชสันตติวงศ์ในราชวงศ์จักรี
ประชากรไทย 8 ล้านคนในเวลานั้น ประมาณการว่าล้มป่วยลงด้วยโรคไข้หวัดสเปนถึง 2.3 ล้านคน และเสียชีวิต 8 หมื่นคน บันทึกในราชกิจจานุเบกษา ลงวันที่ 27 กรกฎาคม พ.ศ. 2462 เล่มที่ 36 หน้าที่ 1193 นับว่ากลไกของประเทศหยุดชะงักลงในช่วงสามปีของโรคระบาดอย่างรุนแรง
ในกลุ่มผู้เสียชีวิต ยังรวมถึงเจ้าฟ้าจักรพงษ์ภูวนารถ กรมหลวงพิษณุโลกประชานาถ ที่สิ้นพระชนม์หลังเสด็จประพาสสิงคโปร์และติดไข้หวัดใหญ่สเปน
และพระบรมวงศานุวงศ์ในสายสมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง (พระนางเจ้าเสาวภาผ่องศรี) ลำดับที่จะได้ขึ้นครองราชย์ก่อนเจ้าฟ้าประชาธิปก อย่างเจ้าฟ้าจุฑาธุชธราดิลก กรมขุนเพชรบูรณ์อินทราชัย เจ้าฟ้าอัษฎางค์เดชาวุธ กรมหลวงนครราชสีมา ก็ทยอยสิ้นพระชนม์ตามลำดับ ด้วยโรคพระวักกะ (ไต) ล้มเหลว ซึ่งน่าตั้งข้อสังเกตว่ามีส่วนเกี่ยวข้องกับการเสวยพระโอสถในช่วงมีโรคระบาด
ทำให้เมื่อพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวสวรรคตในปี 1925 ราชสมบัติก็ตกมายังเจ้าฟ้าประชาธิปก ซึ่งมิได้ทรงเตรียมพระองค์ในทางการบริหารราชการแผ่นดินมาก่อน ด้วยฝึกอบรมเป็นทหารปืนใหญ่มาทั้งพระชนม์ชีพ ต้องฝากราชการทั้งปวงไว้กับพระประยูรญาติชั้นผู้ใหญ่ อย่างเจ้าฟ้าบริพัตร กรมพระนครสวรรค์ฯ กรมพระกำแพงเพชรฯ กรมพระยาดำรงฯ กรมพระนริศฯ ตั้งเป็นคณะอภิรัฐมนตรี สวนทางกับพระราชนิยมในรัชกาลที่ 6 ที่ทรงช่วงใช้ข้าราชบริพารขุนนางสามัญชนมากกว่า ก่อให้เกิดความตึงเครียดในระบบราชการแผ่นดินระหว่างเจ้ากับขุนนางทหารพลเรือนอยู่ก่อน
และเมื่อเศรษฐกิจโลกถดถอยรุนแรงหลังตลาดหุ้นอเมริกาพังทลายในปี 1928 สินค้าออกหลักของไทยอย่างข้าวและไม้สักขายไม่เป็นราคา เงินการคลังขาดดุลอย่างรุนแรง ข้าวยากหมากแพง ต้อง “ดุล” ข้าราชการออก แต่ข้าราชการที่รับใช้เจ้านายที่ทรงอิทธิพลนั้นยังได้อยู่ต่อ แม้ ร.7 จะทรงลดเบี้ยหวัดเงินปีส่วนพระองค์ก็ไม่ได้ช่วยอะไรมาก ในขณะเดียวกัน ที่ประชุมอภิรัฐมนตรีก็ขัดแย้งกันเองในทางการใช้งบประมาณ มีเสียงครหากรมพระกำแพงเพชรว่า “เล่นรถไฟ” คือใช้เงินแผ่นดินไปสร้างทางรถไฟมากทั้งที่เศรษฐกิจตกต่ำ ส่วนทหารที่สนิทกับเจ้าฟ้าบริพัตรฯ ก็มีข่าวลือว่าจะชิงราชสมบัติ ถึงกับเจ้าฟ้าบริพัตรฯ ต้องเข้าไปกราบทูลให้ความมั่นพระทัยต่อ ร.7 ในพระบรมมหาราชวังด้วยตนเอง และ ร.7 ก็ทรงหวาดระแวงพระองค์เจ้าบวรเดช ซึ่งได้เคยถวายฎีกาเรื่องให้พระราชทานรัฐธรรมนูญ และ ร.7 ได้ทรงให้ผู้เชี่ยวชาญที่ปรึกษากฎหมายฝรั่ง ร่างรัฐธรรมนูญแบบเมจิที่พระมหากษัตริย์ยังทรงเป็นผู้ครองอำนาจอธิปไตยไว้ แต่ก็ยังมิได้ตัดสินพระทัยบังคับใช้
แล้วระหว่างนั้น พวกทหารพลเรือนกลุ่มหนุ่มคณะราษฎร ก็ก่อการปฏิวัติ 24 มิถุนายน 1932 เสียก่อน
ขณะเดียวกัน ในระดับโลก ระบอบราชาธิปไตยและจักรวรรดิอาณานิคมก็ถดถอย โรมานอฟรัสเซียล้มเปลี่ยนเป็นโซเวียต ไกเซอร์เยอรมันสละราชย์ อตาเติร์กล้มสุลต่านสลายออตโตมานสถาปนาตุรกีใหม่ แม้กระทั่งประชาธิปไตยเสรีนิยมแบบอังกฤษก็อ่อนแรง สาธารณรัฐไวมาร์กำลังล่มสลาย ประชาธิปไตยไทโชถูกกลุ่มทหารบกจักรวรรดิยึดอำนาจ มุสโสลินีเคลื่อนกองกำลังชุดดำเข้าโรม สตาลินกำจัดทร็อตสกี้ จีนเข้าสู่ยุคขุนศึกมณฑล โลกถูกขับต่อสู้กันด้วยแนวคิดโซเชียลลิสต์ คอมมิวนิสต์และฟาสซิสต์ เตรียมจะปะทะกันรุนแรงอีกครั้งในไม่ถึงสิบปี
จะเห็นได้ว่า กระแสประวัติศาสตร์ เศรษฐกิจ สังคม มาทางนี้ ต่อให้คณะราษฎรไม่ก่อปฏิวัติ 1932 ก็จะมีกลุ่มอื่นปฏิวัติอยู่ดี และไม่รู้เลยว่าถ้าเกิดปฏิวัติด้วยกลุ่มอื่นจะเป็นอย่างไร อาจจะแย่กว่า หรืออาจจะดีกว่าก็ได้ แต่ระบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ก็ไม่สอดคล้องกับประเทศสยามหลังสงครามโลกครั้งที่ 1 และกำลังจะเข้าสู่สงครามโลกครั้งที่ 2 แน่ๆ
การใช้เลข 2475 มาเล่าเรื่อง ไม่ว่าฝ่ายไหน ทำให้เรารู้สึกตัดขาดจากการเคลื่อนไหวทางการเมืองระดับโลกที่ส่งผลต่อแนวคิดอุดมการณ์ของชนชั้นนำไทย ทั้งที่สภาพเศรษฐกิจสังคม ภัยธรรมชาติ โรคระบาด และการต่อสู้ระดับนานาชาติก็มีผลกับประเทศไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากัน