อีกอย่างหนึ่งที่เห็นชัดมาก ทั้งจากโลกจริงและโลกออนไลน์ก็คือ นิสัยหาคนผิดและติดฮีโร่
ครูบาสิ ฮีโร่
หน่วยซีลสิ ฮีโร่
โค้ชเอกสิ ฮีโร่
ผู้ว่าฯ ต่างหากฮีโร่
ฯลฯ
สังคมไทยเป็นอย่างนี้ เป็นสังคมพึ่งพิงและโหยหา “วีรบุรุษ” มากกว่าสังคมที่สนใจและคิดสร้าง “ระบบ” ไม่ว่าจะระบบของการทำงาน ระบบของการสร้างคน หรือระบบของการอยู่ร่วมกัน
เป็นสังคมที่มีโครงสร้างทางสำนึกแบบ “ปัจเจก” คือ ตัวใครตัวมัน ครั้นได้เห็นว่า มีคนผละจากความเป็น “ปัจเจก” มา “ช่วยกัน” จึง “ตื่นดี” คือ ตื่นเต้นกับการกระทำอย่างนั้น จนยกขึ้นไปเสียเลิศลอย แล้วแบ่งคณะกันผลักดันฮีโร่ของตัวเอง เหยียดฮีโร่ของคนอื่น ก่อนจะวกกลับมาเป็น “ปัจเจกบุคคล-ตัวกูของกู-ตัวใครตัวมัน” พลิกผันมาด่าเด็ก ด่าโค้ช ว่ามึงเข้าไปทำไม มึงทำความเสียหายขนาดไหน อีกฝ่ายก็ยกพวกขึ้นเห็นต่าง
• ในสังคม “ต่างคนต่างคิด”
• ในสังคมที่มีสันดาน “หาความต่างก่อนหาความเหมือน” ขีดเส้นใต้ความต่างเพื่อลบความเหมือน
• ในสังคมกูจะคิดของกู และพวกใครพวกมัน
ไม่มีวันที่จะพบ “ความเป็นหนึ่ง” ไม่มีวันที่จะมุ่งไปที่ “ระบบ”
เป็นสังคมที่คุ้นเคยกับการ หา “ผู้ดี” และ “ผู้ร้าย”
คุ้นเคยต่อการ “จำแนก” เรื่องราวต่างๆ ด้วย “ร่องความคิด” แบบ “เรื่องนี้ใครผิด”
เราจึงรวมพลัง หรือแท้จริงจะเรียกว่า “รวมพวก-รวมฝูง” ได้ในระยะสั้นๆ เพื่อจะหาความเหมือน เพื่อจะไป “ปะทะ” หรือ “ถล่ม” กับความต่างให้ “ชนะ” เท่านั้น ไม่ใช่การรวมกันที่แท้จริงและสร้างสิ่งดีงาม-ยั่งยืน
นี่คือ “ความป่วยไข้”
โลกออนไลน์มีทั้ง “เมตตา” และ “ป่าเถื่อน” ขาดความยั้งคิดว่า อารมณ์ตื้นๆ ของโลกเสมือน ไปสร้างผลกระทบอะไรใน “ชีวิตจริง” บ้าง
ในโลกแห่งความเป็นจริง คนทำงานก็ทำไป มุ่งมั่นจะช่วยเด็กออกมาให้ได้
ในโลกออนไลน์ แต่งตั้งคนนั้นคนนี้ขึ้นเป็นฮีโร่ ไอ้คนนั้นเป็นผู้ร้าย ฟาดฟันแย่งชิงตำแหน่งกัน โดยที่คนในโลกจริงเขาไม่ได้สนใจสิ่งนี้เลย เขาทำเพราะเขาอยากทำ มากกว่าตั้งคำถามว่า มีคนเห็นไหม เขาว่าอย่างไรบ้าง เราดังหรือยัง
โลกออนไลน์ จึงผลิต “น้ำเคลือบ” เขาไปเคลือบโลกจริง จนเพี้ยนผิดบิดเบือน ไปตามอำเภอใจของคนที่มีเวลาพอจะนั่งเคาะคีย์บอร์ด เห็นชีวิตจริงๆ คนในโลกจริงๆ เป็นมหรสพ ที่ปั้นแต่ง-ปรุงแต่ง ได้สารพัด ตามความรู้สึกนึกคิดของคน แทนการ “เคารพชีวิตนั้นๆ”
#มิตรสหายท่านหนึ่ง