"เห็นข้อมูลเรื่องกฏหมายการทำเบียร์ที่โพสข้างล่างเขียนไป ขอถือวิสาสะเขียนอธิบายคร่าวๆนะครับ จะได้ไม่เข้าใจผิดกัน
ประเทศไทยอนุญาตให้ทำเบียร์ได้ถูกกฏหมายได้แค่ 2 แบบ
แบบแรกคือ ทำ brewpub นึกภาพไม่ออกให้นึกถึงโรงเบียร์เยอรมันตะวันแดงเข้าไว้ครับ นั่นล่ะ brewpub ประเภทนี้ประเทศเรากำหนดให้มีกำลังการผลิตขั้นต่ำ 1 แสนลิตรต่อปี แต่ไม่เกิน 1 ล้านลิตรต่อปี รายละเอียดปลีกย่อยยั้วเยี้ยขอข้ามไป ไอ้ประเภทว่าห้ามบรรจุขวด ห้ามใส่โถใส่ถังเอาไปจำหน่ายนอกร้าน ก็บังคับใช้กับบริวผับบ้านเรา อยากดื่ม ดื่มได้แค่ในร้าน
แบบที่สองคือ โรงเบียร์ขนาดใหญ่ ต้องมีกำลังการผลิตอย่างน้อย 10 ล้านลิตรต่อปี จำนวนมหาศาลขนาดนี้ นึกถึงพวกสิงห์ช้างไปเลย
ดังนั้นบ้านเราจึงไม่มีที่ว่างให้ microbrewery ขนาดเล็กครับ บางประเทศกำหนดแค่ 2 หมื่นลิตรต่อปีก็ทำได้แล้ว แต่ประเทศเรา 10 ล้านลิตรครับ อ้วกแตกกันไป อยากต้มเบียร์เป็นบริวผับยังต้องทำ 1 แสนลิตรขั้นต่ำ มหาศาลมากๆครับ
ส่วนคราฟต์เบียร์ไทยที่ทุกท่านดื่มกันทุกวันนี้ ร้อยละ 80 % คือของผิดกฏหมายครับ เพราะการทำ homebrew เป็นสิ่งผิดกฏหมายในประเทศนี้ ถ้าต้มเฉยๆ โดนปรับ ต้มแล้วขายปรับหนักกว่า คราฟต์เบียร์ไทยที่ทุกท่านดื่มทุกวันนี้ ตัวไหนไม่มีสแตมป์แปะ มันคือของเถื่อนครับ
ไอ้อีก 20 % ที่เหลือคือคนทำคราฟต์เบียร์ไทยที่ต้องถ่อไปต้มเบียร์ที่ต่างประเทศครับ แล้วค่อยนำเข้ามาขายอย่างถูกกฏหมาย ติดสแตมป์ ทำเรื่องนำเข้า เสียภาษีมหาโหด พวก sandport / happy new beer / มหานคร / stone head พวกนี้คืออดีตของเถื่อนที่ไปทำแบบถูกกฏหมายแล้ว
ส่วน fullmoon ที่ทำชาละวันกับชาตรีนั้น เป็นบริวผับที่ภูเก็ต แต่เขาก็ไปต้มที่ต่างประเทศเช่นกัน แล้วนำเข้าไอ้ชาละวันกับชาตรีเข้ามาขายนี่ล่ะ ไม่ได้แปลว่าเขาเอาเบียร์ในบริวผับของเขามาบรรจุขวดนะครับ บริวผับกับตัวที่ต้มนอกเป็นคนละส่วนกัน
ส่วนร้านขายคราฟต์เบียร์ไทยที่เราๆ รู้จักกัน ที่ฮิตๆ กัน ผิดกฏหมายหมดครับ ทั้ง let the boy die นี่ก็ผิดกฏหมาย โดนจับโดนบุกร้านกันมาหลายรอบแล้ว ร้านชิตเบียร์ก็ผิดกฏหมาย โดนจับมาหลายรอบแล้วเช่นกัน
ทั้งนี้ไม่ได้แปลว่าสิ่งที่พวกเขาทำ สิ่งที่พวกเราดื่ม เป็นเรื่องชั่วช้านะครับ เราอยู่ในสนามที่ไม่แฟร์ กฏกติกาเอื้อแต่รายใหญ่ บีบให้รายเล็กๆต้องดิ้นรนหาวิธี หาทางออก เพื่อให้เราได้ดื่มเบียร์ทางเลือกกัน"
#มิตรสหายท่านหนึ่ง