"เคยเฉียดไปเรียนด้านภาษาและวัฒนธรรมอยู่เทอมนึงก่อนจะเดินจากมาหน้าเฉยตาเฉย แต่ก็ได้เรียนทฤษฎีว่าด้วย “ความห่างไกล” (อันนี้สรุปๆ ทฤษฎีรวบๆ เอาเอง นี่เขียนแบบเขียนสเตตัสนะ มันคือการเขียนลวกๆ ออกตัวไว้ก่อน)
ทฤษฎีนี้บอกว่า ในแง่ของภาษา จะพบว่า ภาษาที่ต้นกำเนิดของภาษานั้นจะมีพลวัตร มีความเปลี่ยนแปลงมากกว่าภาษาเดียวกันนั้นในที่ห่างไกลออกไป ทฤษฎีนี้อธิบายสภาพของภาษาวัฒนธรรมที่อยู่ห่างจากต้นกำเนิด มีแนวโน้มที่จะถูกอนุรักษ์ไว้และไม่ขยับเปลี่ยนแปลงมากนัก หลายคำในภาษาจากดินแดนที่เรียกว่ากวางสี เมื่อมันเข้ามาอยู่ในดินแดนไทย มันจะถูกอนุรักษ์ไว้ เช่นคำว่า ข้าว คนไทยยังเรียกมันด้วยเสียงหนักตามคำเดิมแต่โบราณกาล แต่คำนี้ในดินแดนต้นกำเนิดของคำนั้นเสียงหนักๆ ของ ข. กร่อนเบาลงแล้ว เป็นต้น (ทฤษฎีเขาว่ามา ไม่เคยฟังเองเหมือนกัน)
เรื่องนี้เราพบด้วยประสบการณ์เหมือนกัน ว่าคนไทยที่อยู่เมืองนอกนานๆ (ก็คือห่างไกลต้นทางภาษา) บางทีก็ไม่รู้ว่าภาษาไทยมันมีพลวัตรไปยังไง คำไหนนิยมใช้ คำไหนไม่นิยม คำภาษาต่างประเทศบางคำ คนไทยใช้แบบทับศัพท์หรือต้องแปลออกมาเป็นภาษาไทย---นี่คิดจะเสนองานวิจัยทำนองนี้ดีไหม ว่าคนไทยในต่างแดนนั้นอาจจะอนุรักษ์ภาษาไทยแบบแผนมากกว่าคนไทยในประเทศไทย
คิดต่อแบบชวนโดนรุมสหบาทา ก็คือ ในส่วนของความเป็นไทยในประเทศไทยที่มีความพยายามอนุรักษ์โน่นนี่นั่น ในด้านหนึ่งมันก็สะท้อนความเป็นชายขอบที่อยู่ห่างไกลต้นกำเนิดภาษาและวัฒนธรรมอยู่เหมือนกัน"
#มิตรสหายท่านหนึ่ง