"...มาร่วมเป็น 1 ในทหารของสมเด็จพระนเรศวร เพื่อศักดิ์ศรีของเราลูกนเรศ... "
ด้วยแนวคิดดังกล่าวนี้ เราควรที่จะตระหนักได้แล้วว่า เรานั้นค่อนข้างที่จะมีปัญหาอยู่พอสมควรเกี่ยวกับการเข้าใจประวัติศาสตร์ และนำประวัติศาสตร์มากำหนดกฎเกณฑ์ต่างๆ ขึ้น โดยเฉพาะประวัติศาสตร์กระแสหลักซึ่งอยู่ภายใต้อิทธิพลแนวคิดของลัทธิชาตินิยม ดังนั้น มหาวิทยาลัยที่ควรจะเป็นที่รองรับความคิดใหม่ๆ และควรจะมีเสรีภาพทางความคิดและเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น จึงกลับกลายเป็นว่า ต้องถูกกดภายใต้กฎระเบียบ ซึ่งเป็นผลมาจากประวัติศาสตร์ชาตินิยม โดยทุกคนเลือกที่จะมองข้ามสิ่งเหล่านี้ และเดินไปตามที่สังคมได้กำหนดไว้ ซึ่งเป็นการบังคับให้เดินไปโดยความสัมพันธ์เชิงอำนาจจากรุ่นพี่และคณะผู้บริหาร รวมทั้งบรรดาคณาจารย์ในมหาวิทยาลัยด้วย
แม้กระทั่งเครื่องหมายหรือตึกเรียนต่างๆ ซึ่งก็ได้ถูกตั้งชื่อหรือออกแบบให้สอดคล้องกับประวัติศาสตร์กระแสหลักแบบชาตินิยม อันเป็นการผลิตซ้ำที่อยู่ในรูปแบบต่างๆ เพื่อให้สอดคล้องกับการเรียนและชีวิตประจำวันของนิสิต ดังเช่น เครื่องหมายองค์สมเด็จฯ ที่นิสิตต้องประดับไปเรียนอยู่ทุกครั้ง ชื่ออาคารธรรมราชา อาคารเอกาทศรถ อาคารปราบไตรจักร เป็นต้น เป็นการผลิตซ้ำและปลูกฝังแนวความคิดดังกล่าวให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น
อีกประการหนึ่งของการผลิตซ้ำที่ค่อนข้างอันตรายอยู่พอสมควรคือ การเกิดแนวคิดที่ยกสถานะสมเด็จพระนเรศวรให้มีสถานะเป็น "พ่อ" และแทนนิสิตทุกคนหรือบุคลากรต่างๆ ที่ได้เข้ามาอยู่ในรั้วมหาวิทยาลัยแห่งนี้ว่าเป็น "ลูก" ซึ่งตามค่านิยมของวัฒนธรรมไทยแล้ว ผู้น้อยย่อมเป็นการยากที่จะโต้แย้งผู้ใหญ่ การยกสถานะดังกล่าวนี้ยิ่งทำให้นิสิตยากที่จะตั้งข้อสงสัยหรือโต้แย้งอะไรได้เลย ถึงแม้ว่าสมเด็จพระนเรศวรจะไม่ได้เป็นผู้ใช้วาทกรรมดังกล่าวนี้ แต่การที่ใครก็ได้ที่มีอำนาจจะมาใช้วาทกรรมดังกล่าวนี้ก็ย่อมเป็นสิ่งที่เป็นอันตรายมาก
ดังนั้น เราควรพิจารณาด้วยว่า การที่มีสิ่งเหล่านี้อยู่ในสถาบันการศึกษานั้นเป็นสิ่งที่สมควรหรือไม่ และถามผู้ที่รักและเคารพสมเด็จพระนเรศวร ว่าท่านทนได้หรือไม่ที่ยอมให้มีคนมาแอบอ้างพระนเรศวรเพื่อผลประโยชน์บางอย่าง เพราะท่านมีชีวิตอยู่เมื่อประมาณ 400 กว่าปีที่แล้ว ไม่มีใครเคยพบเห็นท่านจริงๆ หรือได้ยินสิ่งที่ท่านพูด แล้วท่านจะเอาอะไรเป็นตัววัดความประสงค์ของพระองค์ท่าน สิ่งที่มีคนกล่าวอ้างว่าท่านประสงค์อย่างนู้นอย่างนี้ ความประสงค์นั้นแท้จริงแล้วท่านคิดว่ามันเป็นของใคร
เป็นที่แน่นอนว่ากิจกรรมดังกล่าวนี้ได้รับความเห็นดีเห็นชอบจากผู้หลักผู้ใหญ่ต่างๆ ในมหาวิทยาลัย ผ่านไปปีแล้วปีเล่า การผลิตซ้ำของประวัติศาสตร์บาดแผลเช่นนี้ ได้ทำให้แหล่งผลิตปัญญาชนแห่งนี้กลับกลายเป็นเบ้าหลอมของลัทธิชาตินิยมและความคลั่ง สิ่งที่นิสิตเหล่านี้จะได้รับคือความภาคภูมิใจในความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ท่ามกลางความเกลียดชังและอคติ เพราะถึงแม้ว่าเราจะตระหนักดีแล้วว่าเรื่องราวเหล่านี้มันได้ผ่านมาแล้วหลายร้อยปี แต่การผลิตซ้ำก็เปรียบเสมือนเป็นการกรีดแผลซ้ำไปซ้ำมา และการลงมีดครั้งแล้วครั้งเล่าภายใต้แนวคิดของลัทธิชาตินิยมอาจจะหนักและบอบช้ำมากกว่าเดิมเสียด้วยซ้ำ เราควรที่จะตระหนักได้แล้วว่าประวัติศาสตร์บาดแผลนี้มันสร้างอันตรายได้อย่างมากมาย มันสามารถที่จะใช้สร้างความชอบธรรมให้กับสถานะของผู้มีอำนาจ และสามารถใช้ล้มล้างฝ่ายตรงข้ามได้อย่างไม่เป็นธรรม ดังที่เห็นได้จากอดีตที่ผ่านมาแล้วหลายกรณี
อย่างไรก็ตาม มันเป็นความย้อนแย้ง (Paradox) ในตัวของมหาวิทยาลัยเอง ที่มุ่งมั่นปรารถนาที่จะนำสถาบันการศึกษานี้เข้าไปอยู่ใน AEC อย่างภาคภูมิ ถึงกับลงทุนปิดภาคเรียนนำร่องเพื่อปรับเวลาให้ตรงกับประเทศในอาเซียน มีการแลกเปลี่ยนต่างๆ อย่างมากมายในเรื่องของวัฒนธรรม มีนิสิตต่างชาติและอาจารย์ชาวต่างชาติที่เป็นชาวอาเซียนอยู่พอสมควร การหยิบยกประวัติศาสตร์บาดแผลมาเป็นสิ่งหลอมรวมจิตใจนิสิตใหม่นี้ มันไม่เป็นสิ่งที่ย้อนแย้งกันไปหน่อยหรือ เพราะอย่างไรก็ตามเมื่อเปิด AEC เมื่อไหร่ นิสิตที่เป็นชาวต่างชาติก็จะยิ่งมีมากขึ้น ดังนั้น คำถามจึงเกิดขึ้นว่า มหาวิทยาลัยจะยังใช้กลยุทธ์ชาตินิยมแบบเดิมที่หยิบยกประวัติศาสตร์บาดแผลมาหลอมรวมนิสิตได้อีกหรือไม่ อีกทั้งมหาวิทยาลัยจะจัดการอย่างไรกับอคติที่มีผลมาจากประวัติศาสตร์ชาตินิยมเหล่านี้ ที่ทางมหาวิทยาลัยได้มีส่วนเสริมสร้างมันขึ้นมา และผลิตซ้ำอย่างต่อเนื่องและหลากหลาย เห็นได้จากกิจกรรมที่จัดติดต่อกันทุกปีในช่วง 4 ปีหลังมานี้