"คนในครอบครัวผมเป็นมะเร็งสามคน ยาย ป้า หลวงตา
ทั้งสามคนมารักษาที่ศิริราช
บ้านผมอยู่ราชบุรีซึ่งมีโรงพยาบาลศูนย์ ซึ่งคือโรงพยาบาลตติยภูมิ ซึ่งหมายถึงโรงพยาบาลรัฐขนาดใหญ่ ที่มีแพทย์เฉพาะทางและเครื่องไม้เครื่องมือที่มีความพร้อมในระดับสูง ทั้งประเทศมี 26 แห่ง
แต่โรงพยาบาลศูนย์ก็สู้โรงเรียนแพทย์ไม่ได้ ทั้งในเรื่องความรู้สึก (คำว่า "อาจารย์หมอ" มันขลัง) และทั้งในเรื่องกายภาพ โรงเรียนแพทย์มันต้องพร้อมมากๆถึงจะสอนแพทย์ได้ดี เครื่องมือที่ทันสมัย หมอที่เก่ง รวมกันอยู่นี่หมด
พอมีคนป่วยหนักๆ บ้านผมเลยเลือกมารักษาที่ศิริราช จริงๆ ตอนยายป่วยซึ่งเป็นคนแรกก็ไปที่โรงพยาบาลราชบุรีแหละ แต่คนไข้ล้นมาก หมอตรวจไม่เจออะไรด้วย (ไม่ได้โทษหมอนะ ระบบตอนนั้นมันแย่จริงๆ เรื่องมันเกือบยี่สิบปีมาแล้วมั้ง) ก็เลยกระเตงกันมาที่ศิริราช
ซึ่งก็ไม่ได้มาสบายๆ นะ บ้านผมไม่มีรถ ก็นั่งรถทัวร์กันมา ออกจากราชบุรีตีห้า หกโมงถึงปิ่นเกล้า นั่งรถเมล์ต่อไปศิริราช ไปเข้าคิวแล้วจะได้ตรวจตอนบ่ายๆ พอตรวจเจอมะเร็ง ต้องรักษาด้วยการฉายรังสี ก็มาบ่อยเลย บางช่วงมากันทุกวัน ยายผมป้าผมก็อึดเนอะ ตื่นตีสี่ ออกจากบ้านตีสี่ครึ่งนั่งรถเมล์มาท่ารถทัวร์ กลับถึงบ้านอีกทีก็หัวค่ำ เป็นอย่างนี้เป็นหลายเดือน
ถ้าไม่นับเรื่องคิวที่ยาวนรกแตก การได้รักษาที่ศิริราชนี่ดีเลย หมอดี เครื่องไม้เครื่องมือพร้อม หมอเฉพาะทางครบ ที่สำคัญค่าใช้จ่ายน้อยมาก ตอนนั้นยังไม่มีสามสิบบาท แต่บ้านผมจ่ายค่ารักษาน้อยมาก จำไม่ค่อยได้ว่าเค้าคิดยังไง เหมือนว่าจะแล้วแต่จะให้ด้วยมั้ง ด้วยความที่ที่บ้านโอเคกับตรงนี้มากๆ คนต่อไปที่เป็นมะเร็งก็ใช้ระบบนี้แหละ มาฝากผีฝากไข้ที่นี่
นี่คือถือว่าโชคดีนะ ครอบครัวผมไม่ได้รวย แต่ก็พอไหวกับการต้องหยุดงาน การจ่ายค่าเดินทาง การเสียเวลาอะไรต่างๆ ซึ่งต้นทุนไม่ใช่น้อยเลย ลองคิดถึงคนที่ไม่มีสิ การเข้าถึงโรงพยาบาลระดับนี้นี่เป็นไปไม่ได้เลย
ที่เล่ามานี่คือจะสะท้อนให้เห็นถึงความไม่สมบูรณ์ของระบบสาธารณสุขไทย (ไม่อยากใช้คำว่าล้มเหลว มันก็ไม่แย่ขนาดนั้น) สิ่งที่ทำให้คนไข้มากองอยู่ที่ศิริราชก็เพราะโรงพยาบาลใหญ่ๆ ในต่างจังหวัดมันรับปริมาณ ความคาดหวัง อะไรทั้งหลายได้ไม่พอ คนที่พอมีทรัพยากรหน่อยเลยมากองกันตรงนี้
จริงๆ ตอนนี้ถ้าเทียบกับเมื่อสิบยี่สิบปีก่อนก็ดีขึ้นมากแล้วนะ โรงพยาบาลราชบุรีตอนนี้ก็พัฒาขึ้นมากๆๆๆ เป็นโรงเรียนแพทย์ด้วย อะไรๆ ก็ดีขึ้น แต่ถ้าเทียบกับความคาดหวังที่ควรจะเป็นผมก็ว่ามันยังโตเร็วไม่พอ หลักๆ เลยก็คือรัฐจัดสรรงบประมาณสาธารณสุขไทยน้อยเกินไปแหละในมุมของผมนะ คืองบลงทุนที่จะเอาไปสร้าง ไปขยาย ไปจ้างคนเพิ่มมันน้อย งบประจำที่ให้ทุกปีก็ใช้กันจำกัดจำเขี่ยแทบไม่พอ
แล้วโรงพยาบาลท้องถิ่นพวกนี้ก็ไม่มีศักยภาพในการระดมทุนได้ขนาดโรงเรียนแพทย์ทั้งหลายด้วย อย่างมากก็จัดผ้าป่าสร้างตึกกันไป ถ้าแถวไหนมีพระดังๆหน่อยก็โชคดี ให้หลวงพ่อท่านช่วยได้ แต่ถ้าเทียบกับโรงเรียนแพทย์ที่จัดรายการร้องเพลงออกทีวีคืนนึงก็ระดมทุนได้ร้อยล้านนี่ยังห่างไกล
อันนี้ไม่ได้จะว่าหรือกระแนะกระแหนโรงเรียนแพทย์นะ ผมรู้สึกสำนึกบุณคุณอ.หมอที่รักษาญาติๆ ผมด้วยซ้ำ แต่ต้องคำถามกันเหมือนกันว่า เราต้องกระจายทรัพยากรไปต่างจังหวัดให้มากกว่านี้หรือเปล่า แน่นอนอันนี้หน้าที่ของรัฐที่ต้องดูแล มีเงินซื้อรถถังได้มันก็ต้องมีเงินซื้อเอ็มอาร์ไอไปไว้ที่ราชบุรีได้
แต่อย่างเรื่องเงินบริจาคเนี่ย คือไม่อยากให้ทั่วประเทศระดมมาลงที่ศิริราช รามา จุฬา หมด มันควรจะกระจายๆ ไปบ้าง อย่างไอ้กดโทรศัพท์แล้วบริจาคได้เนี่ยชอบมากแต่ถ้ามีให้เลือกส่งเงินไปที่อื่นบ้างน่าจะดี พอกระจุกตรงนี้ สร้างตึกเพิ่ม คนไข้ก็เพิ่ม เดี๋ยวก็ไม่พออีก ก็สร้างตึกเพิ่มอีก ระดมทุนอีก คนไข้เพิ่มอีก ไม่จบไม่สิ้นน่ะ
ปัจจุบันยาย ป้า หลวงตา เสียชีวิตหมดแล้ว ทุกคนเสียชีวิตที่บ้านโดยไม่เคยได้นอนเตียงที่ศิริราชเลยเพราะเต็มตลอด"
#มิตรสหายท่านหนึ่ง