"วันนี้แปลงานบางอย่างแล้วคิดว่าถ้าเป็นศัพท์เทคนิคหรือกึ่งเทคนิค ควรเขียนภาษาอังกฤษลงไปเลย เพราะคนอ่านจะได้ไปค้นต่อได้ง่ายๆ ไม่จำเป็นต้องมาคิดศัพท์เป็นภาษากึ่งดิบกึ่งดีกึ่งน่านิยมกึ่งไม่น่านิยมกึ่งไทยกึ่งบาลีกึ่งสันสกฤตให้ชวนงงกันอีกต่อไป เนื่องจากเราอยู่ในยุคสมัยที่ภาษาอังกฤษเป็นที่เข้าใจง่าย และต้องใช้มันเป็น 'ฐาน' ในการค้นคว้าต่ออยู่แล้ว ดังนั้น การไม่คิดคำภาษาไทย (ย้ำว่า-ในบางกรณีนะครับ) จึงไม่ใช่ความขี้เกียจ แต่เป็นเรื่อง 'ไม่จำเป็น' ต้องทำให้เสียเวลา เพราะทำแล้วเป็นโทษมากกว่าคุณ อย่างมากก็แค่ได้อวดภูมิการคิดคำเท่านั้น
ทำให้นึกถึงกรรมการตัดสินงานเขียนคนหนึ่งที่เล่าว่า กรรมการอาวุโสคนหนึ่งไม่ชอบให้มีภาษาอังกฤษปรากฏอยู่ในงานเขียนเลยแม้แต่ตัวเดียว ดังนั้นในงานตัดสินที่มีกรรมการท่านนั้นอยู่ด้วย จะไม่มีงานเรื่องไหนที่ชื่อ (หรือเนื้อในบางส่วน) เป็นภาษาอังกฤษผ่านเลย ไม่ว่าจะเขียนดีสักเพียงใดก็ตาม แม้กระทั่งบางเรื่องที่เนื้อในไม่มีภาษาอื่นเลย แต่ชื่อเรื่องตั้งมาสองภาษา (คือทั้งไทยและอังกฤษ) ก็ยังไม่ให้ด้วยซ้ำไป แม้กรรมการจะถกเถียงกันอยู่เป็นเวลานาน (เพราะงานชิ้นนั้นดี) แต่ที่สุดก็พ่ายพลังแห่งความอาวุโสที่ให้เหตุผลว่าเราเป็นคนไทย ฉะนั้นต้องคิด 'คำไทย' ออกมาให้ได้
คิดว่าเป็นอีกตัวอย่างหนึ่งของการปะทะกันของยุคสมัย"
#มิตรสหายท่านหนึ่ง