ในอดีต เมืองฝั่งโขงแถบนี้ มีผ้าเก่าแก่ลายเป็นเอกลักษณ์มากมาย เช่น ผ้ากาบบัว ลายปราสาทผึ้ง ทิวมุกจกดาว ขิดนาคกาบน้อย นาคเลื้อย กาบหลวง และอีกสารพัดสารเพ มรดกงานกราฟิกก็จะอยู่ในรูปลายผ้านี่เอง
ในอดีตเวลามีงานพิธี เราจะเห็นผู้ร่วมใส่ผ้าลายสวยๆมาประชันกัน ตั้งแต่งานแบบทางการ ไปจนถึงงาน อบต.งานบุญบ้าน งานศพ งานบวช คนมีหน้ามีตาในท้องถิ่น ก็จะแข่งกันหาผ้าสวยๆที่มีอยู่สารพัดลายมาใส่
สมัยเราเด็กๆ เวลาที่ยายต้องเข้าไปร่วมงานในอำเภอ ยายจะเลือกใส่ซิ่นลายไม่ซ้ำไปร่วมงานเสมอ
มีครั้งนึง คุณอารี แท่นคำ หรือ บก.พายุหินกูรู ในวัยหนุ่ม จัดค่ายมาที่อำเภอบ้านเกิด พร้อมตั้งเวทีเล่นเพลงร็อคในยุคสมัยนั้น แบบที่ลีดกีตาร์หูดับตับไหม้
ยายก็ยังนุ่งซิ่นตีนจก คาดเข็มขัดนาคอันเก่ง จูงหลานๆเข้าอำเภอไปดู #พายุหินกูรู ผู้เป็นลูกชายหล่า ลีดกีตาร์เล็ดแซพปลิน
จนวันที่ยายเสีย แกก็ขอให้ลูกหลานใส่ซิ่นลายสวยที่แกชอบใส่ลงโลงไปด้วยกัน
…
ตัดภาพมาปัจจุบัน ทุกวันนี้ เวลามีงานพิธี เรามักจะเห็นลายๆนึงโดดเด่นใส่กันเต็มงาน ทั้งแบบลายเต็มตัว หรือปะปนอยู่ในชุด ในผ้าซิ่น แทรกลายในผ้าสไบ
ทุกภาคส่วนถูกโดมิเนทโดยลายนั้น
โดยเฉพาะบุคลากรที่เกี่ยวข้องกับรัฐ ครู ข้าราชการ อบต. แม้แต่ ป้าๆอสม.ชาวบ้าน ก็ยังใส่ลายนี้อย่างพร้อมเพรียงกัน
ลายผ้าอัตลักษณ์ท้องถิ่นที่เคยหลากหลาย ค่อยๆถูกแทนที่
จะว่าไป ก็โทษรัฐอย่างเดียวไม่ได้ เพราะมันก็มีทั้งงานที่รัฐ #ขอความร่วมมือ หรืองานที่ชาวบ้านคิดกันเอง
ในกรณีที่ชาวบ้านคิดกันเอง เหตุผลก็ง่ายๆคือ เพื่อที่จะเอาใจรัฐ ทำให้ถูกใจหลวง ก็ใส่ชุดลายนั้นอย่างพร้อมเพรียงกันเสียสิ ก็เพราะระบบสังคมมันเป็นแบบนี้ ชาวบ้านเรียนรู้ที่จะ #แสดงละคร ในบทบาทใดก็ได้ เพื่อเอาใจเจ้าเอาใจนาย
ก็เราอยู่ในรัฐนาฏกรรมแบบนี้ แค่สวมชุดตามบทนี่ง่ายจะตาย
เหมือนกับเวลาขอโครงการ ชาวบ้านเรียนรู้ที่จะใส่นามสกุลโครงการแบบไหนก็ได้ เพื่อเอาใจหลวง เพื่อให้ได้รับการอุปถัมภ์ ได้ถนนหนทาง ได้ฝาย ได้สะพาน ได้งบมาทำโครงการกำจัดลูกน้ำยุงลายเฉลิมพระเกียรติเทิดไท้สู่ประชาคมอาเซียนตามหลักเศรษฐกิจพอเพียง you name it
...
เข้าพรรษาปีที่แล้ว เราไปงานโรงเรียนประถมแถวนี้ ก็โรงเรียนบ้านนอกระดับหมู่บ้านนี่แหละ ตอนถ่ายรูปรวม เรายืนอยู่ตรงนั้นพอดี ป้าๆครูๆเลยขอให้ช่วยถ่ายรูป เรายกกล้องขึ้นมา มองทุกคนที่ยืนเรียงยิ้มแฉ่งรับกล้อง
จึงเห็นว่าชุดครู ซิ่นนางรำเด็กๆทั้งกลุ่ม อสม.หมู่บ้านทั้งเซ็ต
ใส่ลายเดียวเหมือนกันหมด!
แล้วลายซิ่นตีนจก เครือนาค หมี่บักโม หมี่ขอฮ้อย หายไปไหนหมด?
หรือนี่คือ Textile-Internal-Colonisation ที่ขยายตัวกลืนกินความหลากหลายและอัตลักษณ์ท้องถิ่น เหมือนที่เคยกลืนกินภาษาพูด ภาษาถิ่น ตัวธรรม ตัวไทน้อย ตัวเมืองล้านนา กลืนกินสถาปัตยกรรมวัดแบบล้านช้างมาแล้ว
หนัง Internal-Colonisation ม้วนเดิม กำลังเกิดขึ้นเห็นๆกับตา ในโลกยุคปี 2024 นี่เลย
หรือไม่แน่ ลายผ้านี้อาจจะเป็น #เอเลี่ยนสปีชี่ทางสุนทรียศาสตร์ ที่กำลังแพร่กระจาย โดยที่เราแตะต้องต้นตอไม่ได้แบบเดียวกัน