บาปของคนกรุงเทพฯ (หรือเปล่า?)
ทำงานนี้มา 10 ปี (และกำลังจะครบ 11 ปี ในอีกไม่กี่สัปดาห์ข้างหน้า) ประเด็นที่สนใจติดตามนำเสนอที่สุดคือ "ความเหลื่อมล้ำ" การพัฒนาที่ไม่เห็นใจคนฐานราก คนจน คนชายขอบ ไม่ว่าในเมืองหรือชนบท เรียกว่าถ้าไม่เหลือบ่ากว่าแรง ไปเองได้ก็จะพยายามไปตลอด
แต่ยิ่งทำไปเรื่อยๆ มันก็มีสิ่งหนึ่งที่ขัดแย้งในใจตัวเอง นั่นคือความที่มีชาติกำเนิดเป็น "คนกรุงเทพฯ" แถมเป็น "สายเลือดแท้" สืบสาวตระกูลได้ 3-4 รุ่นเป็นอย่างน้อยเสียด้วย!!!
ทุกครั้งที่ผมตามประเด็นโครงการพัฒนาขนาดใหญ่ ทั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษ นิคมอุตสาหกรรม เขื่อน โรงไฟฟ้า ทางรถไฟ ถนน ฯลฯ ใจหนึ่งผมเห็นใจชาวบ้านชนบทที่ถูกเอารัดเอาเปรียบเสมอ ทำ EIA มั่วๆ ไม่ครอบคลุมผลกระทบและวิถีชีวิตคนท้องถิ่นบ้าง ใช้สถานะทางทะเบียนหรือการอยู่อาศัยที่ผิดกฎหมายเพราะรัฐเข้าไม่ถึงเขาแต่ต้นมาข่มขู่ขับไล่บ้าง แต่ในบางครั้ง อีกด้านของใจผมมันก็คิดขึ้นมาว่า แล้วถ้าวันหนึ่งชุมชนชนบทหรือต่างจังหวัดทุกแห่ง ลุกขึ้นมาต่อสู้ทวงสิทธิของตนเองกันอย่างแข็งขันทุกแห่ง แล้วกรุงเทพฯ บ้านเกิดของผมจะอยู่อย่างไร?
มันมีความจริงที่ปฏิเสธไม่ได้ว่า กรุงเทพฯ เป็นเมืองที่พึ่งพาตัวเองไม่ได้เลย ถ้าจำตอนน้ำท่วมใหญ่ปี 2554 ที่นี่คือจุดที่สถานการณ์โกลาหลที่สุด แม้น้ำจะไม่ท่วมหนักเหมือนต่างจังหวัดที่ถูกกำหนดให้รับน้ำแทนยาวนานนับเดือน แต่เมื่อเส้นทางสัญจรถูกตัดขาด การขนส่งเสบียงอาหารเข้ามาไม่ได้ ต่อให้ตลาด ร้านสะดวกซื้อ ห้างสรรพสินค้ายังเปิด ก็ไม่มีสินค้าวางจำหน่าย หรือถ้ากรุงเทพฯ ไฟฟ้าดับเพียงไม่กี่ชั่วโมง ก็แทบจะเรียกได้ว่าหายนะแล้ว เราอยู่กันบนตึกสูง ต้องใช้ไฟฟ้าเดินระบบน้ำผ่านเครื่องสูบ หรือแม้แต่ระบบประปา ในขณะที่คนชนบทวิถีเรียบง่าย ขอแค่มีดิน น้ำ อากาศสะอาดแบะสมบูรณ์ เขาก็ดำรงชีพเลี้ยงตัวเองได้แล้ว
หากผมเป็นคนต่างจังหวัด ผมคงอินกับการต่อสู้ของชุมชนต่างๆ มากกว่านี้ หรือถ้าผมเป็นคนกรุงเทพฯ ที่ไม่สนใจปัญหาความเหลื่อมล้ำ ชีวิตผมคงมีความสุขกว่านี้
นี่คือสิ่งที่ "กลืนไม่เข้าคายไม่ออก" ในความคิดของผมมาได้สักพักใหญ่แล้วครับ!!!
#มิตรสหายท่านหนึ่ง