>>868 ไม่ได้แปลผิด มันต้องเป็นสีม่วง ไม่ใช่สีเลือดหมู เพราะสีม่วงคือสีของสวรรค์ ไอ้คนแหกนะฟังแต่ไกด์แล้วมาอวดรู้สุดๆ
>>>/literature/3636/974/
ข้อมูลจริง
https://www.facebook.com/kornkitd/posts/10154341596446954
ร้อยเรื่องราววังต้องห้าม
เมื่อสักปีกว่าๆ ผมเคยแนะนำหนังสือชื่อ 紫禁城100 หรือ ร้อยเรื่องราวเกี่ยวกับวังต้องห้าม เพื่อฉลอง 90 ปีที่สถาปนาพระราชวังเป็นพิพิธภัณฑ์แห่งชาติ หลังจากนั้นมีคนไถ่ถามกันมาก ถึงขนาดจะฝากผมซื้อ ซึ่งจนปัญญาผมอย่างยิ่ง เดชะบุญที่ช่วงสัปดาห์หนังสือแห่งชาติปีนี้ สำนักพิมพ์มติชนนำหนังสือที่ว่ามาแปล แล้วให้ชื่อว่า "ร้อยเรื่องราววังต้องห้าม" ซึ่งหลายท่านคงเคยเห็นหรืออาจซื้อมาเชยชมแล้ว
ความดีงามของ "ร้อยเรื่องราววังต้องห้าม" คืออะไรผมทราบอยู่บ้าง แต่ไม่รู้จะเริ่มพรรณนาจากตรงไหนดี เลยลองให้น้องๆ ที่ทำงานลองพลิกๆ ดู อ่านคร่าวๆ แล้วค่อยถามว่ารู้สึกอย่างไร?
น้องๆ ลองดูแล้วบอกว่า "เหมือนสารานุกรมภาพที่ย่อยง่าย ใครๆ ก็อ่านได้"
คำว่า "สารานุกรม" นี่โดนใจผมมาก
พระราชวังต้องห้ามแรกสร้างเมื่อปีค.ศ. 1406 โดยพระเจ้าหย่งเล่อแห่งราชวงศ์หมิง ตัวพระราชวังสะท้อนผังของฉนวนต้องห้ามสีม่วง (紫微垣) อันเป็นหนึ่งใน 3 ฉนวน (垣) หรือหมู่ดาวตามคติจีนของฟากฟ้า 3 ทิศ คือเบื้องอุดร เบื้องทักษิณ และเบื้องปัจจิม ฉนวนต้องห้ามสีม่วงนั้นอยู่เบื้องอุดร เป็นที่สถิตของเง็กเซียนฮ่องเต้ ประมุขแห่งสวรรค์ และโดยเหตุที่ฮ่องเต้จีนถือพระองค์เป็นโอรสสวรรค์ จึงทรงพระราชวังเป็นดั่งภาพสะท้อนของฉวนต้องห้ามสีม่วง อันเป็นวิมานของเทพไทเบื้องอุดร เพียงแต่มีหมู่วิมานในฉนวนบนพื้นโลกเพียง 9,999 ห้อง น้อยกว่าบนสวรรค์อยู่ครึ่งหนึ่ง
ดังนั้น ชื่อของพระราชวังต้องห้ามที่ถูกต้องคือ "นครต้องห้ามสีม่วง" (紫禁城) ส่วนคำว่ากู้กง (故宮) แปลว่าพระราชวังเดิม
ผังของพระราชัวงต้องห้ามจึงสะท้อนแผนที่ดวงดาว สะท้อนตำแหน่งคติเรื่องขุนนางสวรรค์ (คือดาวบริวาร) และนี่คือความเป็นสารานุกรมด้านดาราศาสตร์ แต่ครั้นสร้างบนแผ่นดินโลก ก็ยังต้องมีสัญลักษณ์เพื่อสะท้อนภูมิศาสตร์แผ่นดินจีน เพื่อย้ำเตือนว่า "ฮ่องเต้ทรงปกหล้าคุ้มหาว" ดังนั้น เมืองสวรรค์แห่งนี้จึงต้องสะท้อนทุกอย่างที่มีในโลกนี้
ดังในพระราชสาส์นของพระเจ้าเฉียนหลงแห่งราชวงศ์ชิงไปถึงพระเจ้าจอร์จที่ 3 แห่งบริเตนว่า "เมืองสวรรค์ (เทียนเฉียว - หมายถึงประเทศจีน) มีผลิตผลมั่งคั่ง ไม่มีสิ่งใดที่เราไม่มี"
เมื่อก่อสร้างพระราชวัง ก็ระดมสรรพวิชาช่างมากมายเหลือคณานับ สานต่อตำราสถาปัตยกรรมโบราณ แฝงคติปรัชญาอินหยาง คือสมดุลและการแปรผันของจักรวาลในทุกกระเบียด ไหนจะคติความเชื่อทางขงจื๊อ ศาสนาเต๋า ศาสนาพุทธอีกเล่า อิฐทุกก้อน กระเบื้องทุกแผ่นของพระราชวังต้องห้ามนั้น ราวกับซ่อนสรรพวิชาไว้ เป็นดั่งสารานุกรมในรูปสถาปัตยกรรม
"ร้อยเรื่องราววังต้องห้าม" จึงมีหน้าที่เป็นดั่งคู่มือ ไขความลับของสรรพวิชาที่ซ่อนอยู่ในเวียงวัง
อนึ่งเล่า พระราชวังต้องห้ามนั้นเริ่มสร้างปีค.ศ. 1406 แต่ 3 ปีก่อนหน้านั้น องค์หย่งเล่อ ทรงมีปัญชาให้ปวงบัณฑิตรวบรวมสรรพวิชาบนโลกหล้า รวบรวมเป็นมหาสารานุกรมที่ใหญ่ที่สุดในโลก ใช้ชื่อว่า หย่งเล่อต้าเตี่ยน (永乐大典) สารานุกรมชุดนี้มีความรู้ทุกอย่างในของโลก (ตะวันออก) มีจำนวนถึง 11,095 เล่ม ประหนึ่งว่า องค์หย่งเล่อปรารถนาที่จะสร้างวังต้องห้ามเพื่อสะท้อนสรรพศาสตร์ในมหาสารานุกรม
แต่น่าเสียดายที่ หย่งเล่อต้าเตี่ยนสูญหายและถูกทำลายจนเกือบหมดสิ้น สรรพวิชามากมายจึงสาบสูญไป
แต่อีกหนึ่งสารานุกรมที่ไร้อักษรของหย่งเล่อ คือพระราชวังต้องห้ามยังคงอยู่คู่ฟ้า รอให้อนุชนอย่างเราค้นหาความรู้ที่ซ่อนอยู่ในอิฐทุกก้อนและกระเบื้องทุกแผ่นต่อไป
ป.ล.
ผมได้รับความอนุเคราะห์จากสำนักพิมพ์มติชน ซึ่งมอบหนังสือเล่มแปลมาให้อ่าน ต้องขอขอบคุณอย่างยิ่ง ในฐานที่เคยแนะนำหนังสือเล่มนี้มา พลิกอ่านหน้าไหนก็อดชมทางสำนักพิมพ์ไม่ได้ว่าทำงานปราณีต นักแปลก็มีภูมิรู้เป็นเลิศ เมื่องานแปลบวกกับเนื้อหาอันบรรเจิด จึงกลายเป็นเป็นหนังสือปราศจากที่ติโดยแท้
ขอยืนยันว่านี่ไม่ใช่คำชมเพราะได้อามิสสินจ้าง แต่เป็นความรู้สึกจริงๆ จากการได้เห็นหนังสือดีๆ ในภาษาจีนร่วมสมัยถูกแปลเป็นไทย
ข้อที่อาจทำให้หลายคนไม่อยากจะได้หนังสือเล่มนี้มาครองก็คือ ราคาของมุนอาจจะสูงไปบ้าง (990 บาท) แต่ราคาพากย์ภาษาไทยแทบไม่ต่างจากต้นฉบับภาษาจีนเลย หนำซ้ำยังไม่ต้องเสียเวลาแปลอีกด้วย