>>542
【การแปลสำนวน-สุภาษิตญี่ปุ่น】
วันนี้ผมขอพูดถึงเรื่องหลักทฤษฎีการแปลสักหน่อยครับ
สำนวน-สุภาษิตเป็นหนึ่งในเรื่องที่ยากที่สุดของการแปล เพราะสำนวนมักจะมีความเกี่ยวพันกับวิถีชีวิตภายในสังคมรวมถึงประเพณีและวัฒนธรรมของชาตินั้นๆ ถ้าเลือกใช้คำศัพท์ไม่ถูกต้อง อาจจะทำให้ผู้อ่านเข้าใจผิดเพี้ยนได้
เนื้อหาต่อไปนี้สรุปมาจากหนังสือ <แปลญี่ปุ่น-ไทย (เบื้องต้น)> ของ <ดร.สมเกียรติ เชวงกิจวณิช> ใครสนใจสามารถสั่งซื้อได้ที่เว็บไซต์ของสำนักพิมพ์สสท.ภาษาและวัฒนธรรม หรือหาได้ตามร้านหนังสือชั้นนำทั่วไปครับ
===================
จากหนังสือ <แปลญี่ปุ่น-ไทย (เบื้องต้น)> สรุปได้ว่ามีกลวิธีการแปลสุภาษิต 4 เทคนิคดังนี้
➡️ 1. การแปลแบบตรงตัว
ถ้าบทแปลสุภาษิตญี่ปุ่นตรงกับภาษาไทยและมีความหมายเท่าเทียมกัน ให้แปลแบบตรงตัวได้เลย เช่น
> 「火に油を注ぐ」
hi ni abura wo sosogu
เติมน้ำมันเข้ากองไฟ
> 「足ることを知れ」
taru koto wo shire
จงรู้จักพอ
> 「百聞は一見に如かず」
hyakubun wa ikken ni shikazu
ฟังร้อยหนไม่สู้ดูหนเดียว
(สิบปากว่าไม่เท่าตาเห็น)
===================
➡️ 2. การแปลแบบเทียบเคียง
คือการแปลโดยใช้สุภาษิตไทยที่มีความหมายเหมือนหรือคล้ายคลึงมาเทียบเคียง ยกตัวอย่างเช่น
> 「一石二鳥」
isseki nichou
แปลตรงตัว: หินหนึ่งก้อน นกสองตัว
สำนวนไทย: ยิงปืนนัดเดียว ได้นกสองตัว
> 「猿も木から落ちる」
saru mo ki kara ochiru
แปลตรงตัว: แม้แต่ลิงก็ตกจากต้นไม้ได้เหมือนกัน
สำนวนไทย: สี่เท้ายังรู้พลาด นักปราชญ์ยังรู้พลั้ง
> 「泣きっ面に蜂」
nakittsura ni hachi
แปลตรงตัว: ผึ้งบินชนหน้าตอนร้องไห้
สำนวนไทย: ผีซ้ำด้ำพลอย
กลวิธีนี้มีข้อควรระวังคือ ต้องตรวจสอบให้แน่ใจว่าความหมายโดยตรงและความหมายแฝงของสุภาษิตทั้งสองภาษาตรงกัน และต้องระวังคำภาษาไทยที่แปลกแยกจากวัฒนธรรมญี่ปุ่น (เช่น 'ปิดทองหลังพระ' ไม่ควรใช้สำนวนนี้เพราะชาวญี่ปุ่นไม่นิยมการปิดทองบนองค์พระ)
===================
➡️ 3. การแปลแบบขยายความ
เป็นการแปลแบบตรงตัวตามต้นฉบับ แล้วตัด เพิ่ม หรือปรับสำนวนเพื่อให้ผู้อ่านชาวไทยเข้าใจได้ง่ายขึ้น เช่น
> 「明日は明日の風が吹く。」
ashita wa ashita no kaze ga fuku
พรุ่งนี้ก็จะมีลมของวันพรุ่งนี้พัดมา อนาคตเป็นเรื่องของอนาคต
การเลือกใช้กลวิธีนี้ ต้องตรวจสอบให้แน่ใจก่อนว่าคำศัพท์หรือสำนวนที่เพิ่มมานั้นเหมาะสมกับบริบทหรือไม่ และบทแปลที่เสริมมาต้องไม่เยิ่นเย้อเกินไปจนเสียอรรถรสของความเป็นสุภาษิต
===================
➡️ 4. การแปลแบบตีความ
เป็นการแปลอธิบายโดยใช้ประโยคภาษาไทยที่ผู้อ่านชาวไทยสามารถทำความเข้าใจได้ง่าย โดยอาจจะใช้คำจากสุภาษิตต้นฉบับเพียงเล็กน้อยหรือไม่ใช้เลยก็ได้ เช่น
> 「金は天下の回りもの」
kin wa tenka no mawari mono
เงินทองเป็นของไม่แน่นอน
แต่วิธีนี้อาจจะทำให้เสียอรรถรสของสุภาษิตต้นฉบับ ดังนั้นควรใช้เมื่อไม่สามารถปรับบทแปลได้จริงๆ เท่านั้น
===================
[หนังสือแนะนำ]
แปลญี่ปุ่น-ไทยเบื้องต้น (ฉบับปรับปรุง)
เขียนโดย ดร.สมเกียรติ เชวงกิจวณิช
https://www.tpabook.com/product/แปลญี่ปุ่น-ไทยเบื้องต้น/
เครดิท เพจ kagami translation
คือ หลักการมันมีอยู่แล้วว่ะ